สัญญา

บริการร่างสัญญา ตรวจสัญญา

การร่างสัญญาและตรวจสัญญาให้รัดกุม

สัญญา คืออะไร

สัญญา คือ กิจกรรมทางกฎหมายอย่างหนึ่งหรือที่เรียกกันว่า “นิติกรรม” แบบหนึ่งระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายเป็นต้นไป เพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และสิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อกันไว้ให้มีผลผูกพันทางกฎหมายหรือเป็นหลักฐานต่อกัน

การทำสัญญาเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ในชีวิตประจำวันเราได้ทำสัญญามากมาย “โดยที่เราไม่รู้ตัว” ว่ามันคือสัญญาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เราไปกินข้าวหน้าปากซอยระบบของสัญญาจะเริ่มตั้งแต่ เราชูมือสั่งข้าวและป้าเจ้าของร้านก็ทำข้าวมาให้เรากินและเราก็จ่ายเงินค่าข้าวตอนกินเสร็จแล้ว หรือ การที่เราโบกแท็กซี่ให้พาเราไปห้างสรรพสินค้าเมื่อถึงจุดหมายเราก็จ่ายเงินตามที่มิเตอร์แจ้งไว้ เป็นต้น

เห็นไหมครับว่าเรื่องสัญญา “ใกล้ตัวว่าที่คิด” หากตามตัวอย่างข้างต้น ข้าวที่เราสั่งไม่ได้ตามที่ต้องการ, ป้ามาเก็บเงินค่าข้าวแพงเกินกว่าที่เราเข้าใจ หรือ ลุงขับเเท็กซี่พาเราไปไหนไม่รู้หรือของเก็บเงินเกินกว่ามิเตอร์แจ้งไว้ ขนาดเรื่องเล็กๆแค่คิดยังปวดหัวเลย แล้วเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ เรื่องที่มีความซับซ้อน เรื่องที่เป็นทางการมากๆ หากเราไม่มีตัวสัญญาที่ระบุเป็นตัวหนังสือเป็นหลักฐานกันไว้ ถึงเวลาที่มีปัญหากันก็ต้องมาเถียงกันหนักและปวดหัวมากแน่นอน

การร่างสัญญาเบื้องต้น

ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีทนายความหรือนักกฎหมายใกล้ตัวดังนั้นวันนี้ผมจะสอนวิธีการ “ร่างสัญญาเบื้องต้น” ให้ครับเผื่อไว้ว่าเราไม่มีงบจ้างทนายทำให้ หรืออยากจะรู้ไว้เผื่อตรวจสัญญาที่อีกฝ่ายร่างมาได้

“คู่กรณี” สิ่งแรกที่ต้องจับไว้ก่อน คือ การระบุให้ชัดเจนว่าใครเป็นคู่สัญญาหรือคู่กรณีของเรา ซึ่งฝ่ายแรกก็คือ ตัวเองและอีกฝ่ายก็คือคนที่จะสัญญาบางส่งบางอย่างกับเรานั่นเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเรายอมให้อีกฝ่ายระบุชื่อคนอื่นทำสัญญาแทนแบบไม่มีที่มาที่ไปที่ถูกต้องตามกฎหมาย เวลาเขาผิดสัญญาเราอาจเรียกร้องอะไรจากเขาไม่ได้เลยก็ได้

ดังนั้นให้เขียนรายละเอียดคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายหรือทุกฝ่ายไว้ให้ชัดเจนก่อนลงเนื้อหาเสมอ และให้เรียกแทนแต่ละฝ่ายไว้เช่น “คู่สัญญาฝ่ายที่ 1” และ “คู่สัญญาฝ่ายที่ 2” ตัวอย่าง

     “นายสิทธิพง ชอบกินปลา เลขประจำตัวประชาชนเลขที่ x-xxxx-xxxxx-xx-x อาศัยอยู่ที่ ……… ซึ่งต่อไปในสัญญาฉบับนี้จะเรียกแทนว่า “คู่สัญญาฝ่ายที่ 1” กับ …. “

“ใครมีหน้าที่อะไร” สิ่งต่อมาคือการกำหนดว่าฝ่ายไหนต้องทำอะไรบ้าง เช่น หากเป็นสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน ฝ่ายที่จะซื้อก็จะต้องชำระเงินและฝ่ายที่จะขายก็ต้องไปโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านให้ ในเรื่องนี้ต้องระบุให้ชัดเจนไม่วกวน ไม่ใช้คำสิ้นเปลืองเพื่อลดโอกาสในการตีความหรือขัดกันเอง แนะนำให้เป็นคำที่ตรงไปตรงมาที่สุดและเข้าใจง่าย

“ลงชื่อทุกฝ่าย” เมื่อระบุรายละเอียดทั้งหมดแล้วให้ทุกฝ่ายเซนต์ชื่อไว้ในสัญญาด้วยเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้ทำการตกลงตามเงื่อนไขในสัญญาจริงๆ และแนะนำให้มี “พยาน” อย่างน้อย 2 คนเสมอ เหตุผลที่แนะนำให้มีพยานเสมอเพราะสัญญาบางประเภทกฎหมายบังคับให้มีพยานด้วย แต่ถ้าจะต้องมานั่งจำก็อาจพลาดได้เพราะฉะนั้นให้จำไว้ว่ามีพยาน 2 คนเสมอดีกว่า

นี่คือข้อสำคัญทั้ง 3 ในการร่างสัญญาแบบ “เบื้องต้น” ซึ่งเหมาะสำหรับเรื่องที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยากมาก แต่หากว่าสัญญาที่จะทำกันเป็นสัญญาที่ “กฎหมายกำหนดแบบโดยเฉพาะไว้” หรือเป็น “สัญญาทางธุรกิจ” แนะนำให้ปรึกษาทนายความก่อนเสมอนะครับ

การตรวจสัญญาในทางธุรกิจ

การตรวจสัญญาทางธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเซนต์เอกสารมากมายต่อลูกค้า คู่ค้า หรือแม้แต่พนักงานของตัวเองดังนั้นควรมีฝ่ายกฎหมายภายในตรวจสอบเรื่องพวกนี้ให้ก่อนลงชื่อเสมอ หรือมีทนายความเป็นที่ปรึกษา

อย่างไรก็ดีหากจำเป็นจะต้องตรวจสัญญาเอง ผมมีข้อแนะนำให้ครับสำหรับ “สัญญาทางธุรกิจ” 

1. “เช็คคู่สัญญา” ให้ดีว่าคนที่มาเซนต์ชื่อในวันนี้เกี่ยวข้องอะไรกับบริษัทของเขาและให้ระบุชื่อของคนลงชื่อไว้เสมอ ไม่ใช่แค่ระบุเพียงชื่อบริษัทของเขาเท่านั้น เพราะอาจมีกรณีที่คนลงชื่อไม่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทก็ได้

วิธีการตรวจสอบ

  • เข้าที่ไปที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คลิกที่นี่
  • กรอกชื่อบริษัท “สะกดให้ถูกเป๊ะๆ” ลงไปครับ
  • ตรวจดูชื่อกรรมการบริษัทว่าใช่คนเดียวกับที่อยู่ตรงหน้าเราหรือไม่
  • ถ้าใช่ก็ผ่าน ถ้าไม่ใช่เขาต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากรรมการมาครับ

2. “ตรวจเงื่อนไข” ว่าเราต้องทำอะไรบ้างถึงจะได้ค่าจ้างและพยายามคาดการณ์เหตุการณ์ล่วงหน้าว่าถ้าเกิดเรื่องนี้ใครจะต้องรับผิดชอบส่วนไหนให้ได้มากที่สุด หากว่ายังมีส่วนที่ไม่ชัดเจนให้คุยกันให้ชัดก่อนเซนต์ชื่อ

3. “การบอกเลิกสัญญา” สัญญาทางธุรกิจที่ทำกันเองเกือบทั้งหมดมักจะไม่มีการกำหนดเรื่อของการบอกเลิกสัญญาทำให้เกิดปัญหากันบ่อยมาก เราจะต้องตรวจว่ามีการระบุเรื่องนี้ไว้หรือยังหากยังไม่มีให้ใส่ลงไปด้วย

ใจความสำคัญคือ หากฝ่ายหนึ่งอยากบอกสัญญาต้องทำยังไงบ้าง พอทำแล้วให้สัญญามีผลเลิกกันได้เลยไหมหรือว่าต้องทอดเวลาไปนานอีกเท่าไหร่เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือถ้ามีใครผิดสัญญาอีกฝ่ายบอกเลิกสัญญาได้เลยหรือไม่หรือจะให้โอกาสเขาแก้ตัวก่อน เป็นต้น

นี่เป็นการแนะนำการตรวจสัญญาทางธุรกิจ “เบื้องต้น” เท่านั้นหากรู้สึกว่าสัญญาที่ท่านกำลังทำอยู่มีมูลค่าและเดิมพันสูงแนะนำให้ปรึกษาทนายความก่อนเสมอ

ขั้นตอนการร่างสัญญา

สุดท้ายนี้หากว่าจะต้องทำสัญญากันจริงๆ นี่จะเป็นขึ้นตอนที่ควรทำดังนี้

  1. จดเงื่อนไขว่าตกลงอะไรกันบ้าง
  2. รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด
  3. ตรวจสอบว่าสัญญาที่จะทำกฎหมายบังคับให้มีแบบหรือไม่ ถ้ากฎหมายบังคับให้มีแบบปรึกษาทนายความทันที
  4. ถ้ากฎหมายไม่ได้บังคับให้มีแบบลองร่างได้เลย
  5. นำแบบร่างมาตรวจอีกครั้ง ถ้าอ่านแล้วสับสนให้ปรึกษาทนายความทันที
  6. เมื่อมั่นใจแบบร่างแล้วจึงนำไปเสนอคู่กรณี
  7. เซนต์สัญญา

    สุดท้ายนี้ผมอยากฝากว่า “สัญญาเป็นเรื่องสำคัญ” หากว่าจะต้องทำสัญญากับใครก็แล้วแต่แนะนำให้ปรึกษาทนายความเสมอเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของท่านทุกคนครับ

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย

ใส่ความเห็น