” ฟรีแลนซ์ เป็นอาชีพ ที่ใครๆหลายคนหันมาสนใจกันมากขึ้น แต่มักจะมีปัญหาที่พบได้บ่อยนักเมื่อฟรีแลนซ์ โดนนายจ้างเบี้ยวค่าจ้าง หรือ นายจ้างโดน ฟรีแลนซ์หนีงาน ดังนั้นก่อนจะตกลงทำงานกันของทั้งสองฝ่าย ควรทำ สัญญาจ้างฟรีแลนซ์ ให้ครบถ้วนเเพื่อป้องปัญหาต่างๆที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น “
สารบัญเนื้อหา
ฟรีแลนซ์
ตัวอย่างสัญญาจ้างฟรีแลนซ์
สิ่งสำคัญที่ควรเขียนในสัญญาจ้าง
กฎหมายคุ้มครองฟรีแลนซ์
โดนเบี้ยวค่าจ้าง
ฟรีแลนซ์ทิ้งงาน
ยกเลิกสัญญาฟรีแลนซ์
ฟรีแลนซ์
เด็กรุ่นใหม่ไฟแรงสมัยนี้นิยมหันมาทำอาชีพอิสระมากกว่างานประจำ สามารถเป็นเจ้านายของตนได้ ไม่ต้องเร่งรีบตื่นแต่เช้าตรู่ ขับรถเข้างานตามตารางเวลาที่แน่นเอี๊ยด ไม่ต้องคอยรับงานจำเจแบบเดิมๆที่ทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายได้ตลอดทั้งวัน
เกริ่นกันมาขนาดนี้แล้วคงไม่พ้น ‘อาชีพฟรีแลนซ์’ อาชีพที่ให้อิสระเต็มตัวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความอิสระเนี่ยแหละที่ทำให้เรา “เสี่ยง” ทางกฎหมายได้ ใครที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพนี้อยู่ ไม่อ่านถือว่าพลาด!!
อาชีพฟรีแลนซ์ขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพอิสระ เป็นนายตัวเอง รับจ้างทั่วไปได้ตามใจชอบดั่งสั่งอาหารได้ตามใจฉัน มองจากภายนอกดูเป็นงานที่สบายสุดๆ
แต่แท้จริงแล้วไม่ได้หมายความว่าจะมีแค่ข้อดีไปซะหมด คนที่จะทำอาชีพนี้ได้ต้องมีความรับผิดชอบสูง ขยัน สามารถจัดตารางเวลางานของตัวเองได้ดี
รวมไปถึงวางแผนเรื่องการเงินด้วย
เพราะความเป็นอาชีพอิสระและเป็นเจ้านายตนนั้น เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อรายได้ที่เข้ามา รายได้อาจสูง-ต่ำแล้วแต่เคสบายเคส
เรียกได้ว่าไม่มีความมั่นคงในเรื่องทางการเงินเลย
เปรียบเสมือนยืนอยู่บนเส้นด้ายเพียงแค่ยืนอยู่เฉยๆก็ทำให้ตัวสั่นคลอได้แล้ว การที่มีสัญญาจ้างมาคุ้มครองมาคอยยันคนจ้างงานให้ไม่เบี้ยวค่าจ้าง ย่อมเป็นการสบายใจและปลอดภัยในอนาคตด้วย
ถ้าบริหารงานและเวลาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เน้นส่งงานเดดไลน์ก็อาจทำให้สุขภาพย่ำแย่ได้ นึกภาพกันง่ายๆ ลองนึกถึงหนังภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ (หนังปี 2015)
แค่ได้ยินชื่อหนังเราก็พอจะคาดเดากันได้ว่าเป็นฟรีแลนซ์นั้นห้ามป่วย ห้ามลา ห้ามพักเหมือนกับพระเอกที่มักชอบหอบงานหอบเครื่องคอมพิวเตอร์ไปทำงานด้วยตลอดทุกที่ที่มีโอกาสและมี Wi-Fi ฟรี ทำงานหนักแต่ต้องแลกด้วยสุขภาพที่เจ็บป่วยจนต้องพบแพทย์แบบนี้
มองแล้วไม่น่าคุ้มกัน ดังนั้น เราจึงควรมีสัญญาจ้างฟรีแลนซ์เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการหารายได้ประกอบอาชีพและรักษาระดับมาตรฐานด้านความรับผิดชอบของตัวเองไปในตัวด้วนเช่นกัน
ตัวอย่างสัญญาจ้างฟรีแลนซ์
โดยทั่วไปสัญญาจ้างมีลักษณะ 2 แบบ คือ สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ ซึ่งอาชีพฟรีแลนซ์ ‘ไม่มีสัญญาแบบตายตัว’
อ่านไม่ผิดครับ
การที่จะจ้างฟรีแลนซ์เข้ามาช่วยทำงานนั้น เราอาจใช้เป็นคำพูดวาจาหรือพูดปากต่อปากกันได้ง่ายๆเลย ตกลงกันเสร็จสรรพพึงพอใจกันทั้งสองฝ่ายแล้ว นับว่าเป็นสัญญาจ้างแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้เรียกว่า ‘สัญญาไม่มีลายลักษณ์อักษร’
แต่ในมุมมองทางกฎหมาย เราอยากจะแนะนำให้ทำสัญญาแบบ ‘มีลายลักษณ์อักษร’ จะดีกว่า หากเกิดข้อโต้แย้งอะไรขึ้นมาจะได้มีหลักฐานสัญญาจ้างอย่างชัดเจน
เวลาต่อสู้คดีขึ้นโรงขึ้นศาลหากมีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ย่อมมีน้ำหนักกว่านามธรรมเสมอ
สิ่งสำคัญที่ควรเขียนในสัญญาจ้างงานฟรีแลนซ์
ชื่อสัญญา : ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นสัญญาจ้างเกี่ยวกับอะไร โดยระบุเฉพาะเจาะจงให้ได้มากที่สุด ฉบับที่ว่าเห็นแล้วรู้เลยว่าเป็นสัญญาจ้างเกี่ยวกับทำอะไร
รายชื่อคู่กรณีสัญญา : สัญญาจ้างต้องมีชื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย คือ ชื่อผู้ว่าจ้างและชื่อลูกจ้าง(ชื่อฟรีแลนซ์) ระบุให้ชัดเจนว่าระหว่างคู่สัญญาเป็นใครกับใคร เป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคลหรือบริษัท
ระยะเวลา : สัญญาจ้างที่ดีควรกำหนดระยะเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันสิ้นสุดลงของระยะเวลาการทำงาน ไม่มีเกินหรือขาดไปกว่าข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา
จำนวนเงินค่าจ้าง : ต้องระบุการจ่ายและการรับค่าจ้างอย่างชัดเจน ให้อยู่ในระดับความพึงพอใจระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย การเงินจ่ายค่าจ้างมีได้หลายกรณีแล้วแต่คู่สัญญาจะพึงพอใจ
เช่น กรณีทำงานเสร็จจ่ายเงินครบจบ หรือหากเป็นกรณีแบ่งจ่ายเป็นงวดๆก็ให้ระบุยอดค่าจ้างในแต่ละครั้งอย่างชัดเจนและครบถ้วน
เช่น ทำตารางตีแบ่งเป็นช่องพร้อมลงลายมือชื่อทุกครั้งที่จ่ายและรับเงินก็ได้ เพื่อป้องกันปัญหาหลงลืมระหว่างงวดนั้นๆ
ขอบเขตการทำงาน : ต้องระบุให้ชัดเจนว่าขอบเขตการทำงานอยู่ที่ไหน การทำงานต้องดำเนินเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ภายในสัญญาเท่านั้น หากผู้จ้างสั่งเกินหรือฟรีแลนซ์ทำงานตกหล่น ไม่ครบถ้วน จะถือว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิดสัญญาทันทีและมีผลทำให้สัญญาเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
การบอกเลิกสัญญา : ต้องตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะเกิดผลบอกเลิกสัญญาเมื่อไหร่และแต่ละฝ่ายต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง มีค่าเสียหายอะไรที่ต้องชดใช้ต่อกันหรือไม่ เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดสัญญาแม้แต่ข้อเดียวตามที่ตกลงกันไว้ มีผลทำให้เลิกสัญญาต่อกันทันที
ลิขสิทธิ์ : เรื่องลิขสิทธิ์แน่นอนว่าตกเป็นของผู้ออกแบบโดยทันทีแม้ไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม แต่สามารถตกลงกันได้ว่าผู้จ้างมีสิทธิ์ใช้ผลงานนั้นๆได้เพียงเท่าไหร่บ้างก็ให้ระบุไว้ในสัญญา หากผู้จ้างนำไปใช้เกินข้อกำหนดจะถือว่าผู้จ้างนั้นเป็นคนผิดสัญญาและอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมา
กฎหมายคุ้มครองฟรีแลนซ์
ในหลายๆอาชีพล้วนมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานคอยรับประกันอยู่ ‘ยกเว้นอาชีพฟรีแลนซ์’ เนื่องจากอาชีพฟรีแลนซ์เป็นอาชีพประเภทอิสระ ไม่ได้ขึ้นตรงต่อใครหรือบริษัทใดๆเพียงเจ้าเดียว จึงไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ในการรักษาพยาบาลควบคู่กับการใช้สิทธิประกันสังคม
โดนเบี้ยวค่าจ้าง
หากเป็นผู้โชคดีหนึ่งในล้านถูกนายจ้างเบี้ยวไม่จ่ายค่าจ้างให้ตามทวงก็แล้วอะไรก็แล้ว ยังโดนเลื่อนแล้วเลื่อนอีก (เหมือนกับประเทศไทยครั้งนึงที่เคยโดนเลื่อนการเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง)
ลูกจ้างหรือฟรีแลนซ์สามารถฟ้องร้องเรียกเอาค่าเสียหายได้ โดยนำสัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรไปเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี หรือแม้แต่สัญญาจ้างแบบไม่มีลายลักษณ์อักษร(ใช้ด้วยวาจาหรือปากเปล่า) ก็สามารถนำไปฟ้องร้องได้เหมือนกัน
ฟรีแลนซ์ทิ้งงาน
เป็นหนึ่งในปัญหาของผู้จ้างเวลาเจอลูกจ้างอย่างฟรีแลนซ์ ที่ไม่รับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้มอบหมายไว้ให้ ทิ้งงานไปเที่ยวเตร่ หรือไปรับงานนอกที่อื่นจนล้นมือทำไม่ไหว แล้วเลือกที่จะทิ้งงานหนีหางจุกก้นไปซะดื้อๆ
พฤติกรรมในลักษณะนี้นอกจากจะแสดงความไร้ผิดชอบต่อหน้าที่แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าจ้างได้
หากผู้จ้างกำลังเจอสถานการณ์แบบนี้อยู่สามารถเรียกฟ้องร้องเอาคืนได้ เพราะมีสัญญาอยู่ในมือ
โดยนำสัญญาจ้างฟรีแลนซ์ไปใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีฟ้องร้อง การตอบโต้กลับโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือและบทลงโทษแก่ลูกจ้างถือว่าสมเหตุสมผลแล้ว
ยกเลิกสัญญาฟรีแลนซ์
เจอปัญหาฟรีแลนซ์ทิ้งงาน แอบอู้งานแอบเบี้ยวงาน มาสายทำงานไม่ตรงเวลาบ้าง ผู้จ้างหรือเราทำผิดสัญญาในข้อใดข้อหนึ่ง ปัญหาร้อยแปดอย่างที่สุดจะทนจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอยากจะบอกยกเลิกสัญญาจ้าง
สามารถทำได้โดยปฎิบัติตามภายใต้ข้อกำหนดที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาตั้งแต่แรก
ดังนั้นในสัญญาจะต้องระบุไว้เลยว่า เหตุการณ์ไหนเกิดขึ้นฝ่ายเราสามารถยกเลิกสัญญาได้และจะต้องคืนค่าจ้างหรือไม่
ถ้าคืนต้องคืนเท่าไหร่ และการยกเลิกงานกลางคันจะมีผลอะไรหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายเลยครับ
สอบถามเพิ่มเติม
ติดต่อทนาย
ส่งเมล์
info@champ-lawfirm.com
โทร
065 6060622
แชทไลน์
ID: @champlawfirm
สำนักงาน
47/86 Pattaya Klang Rd.