สัญญาหุ้นส่วน เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
การมีหุ้นส่วนคือบรรไดขั้นที่แรกในการสร้างธุรกิจ ปกติแล้วช่วงเริ่มเเรกนี้มักจะไม่ค่อยมีปัญหากันเพราะต่างคนก็มองทุกอย่างในเเง่บวก พร้อมเชื่อใจกันและกัน
แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่าธุรกิจของคุณจะกำไรเยอะหรือขาดทุน ปัญหาระหว่างหุ้นส่วนก็เริ่มจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเอาเปรียบในด้านการทำงานแต่ผลประโยชน์แบ่งเท่ากัน การเริ่มไม่วางใจอีกฝ่าย การจำสิ่งที่เคยตกลงกันไว้ไม่ได้เพราะไม่ได้ทำสัญญาไว้ เป็นต้น
วันนี้เราอยากมาเเนะนำเรื่องนี้ให้ครับ ว่าสัญญาหุ้นส่วนมีแง่มุมอะไรที่ควรรู้ไว้ก่อนเริ่มทำธุรกิจบ้าง
สารบัญ
- สัญญาปากเปล่า สัญญาใจ มีผลทางกฎหมายหรือไม่
- สัญญาหุ้นส่วน ทำยังไง
- สัญญาหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน คืออะไร
- รายละเอียดที่ควรมีในสัญญาหุ้นส่วน
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
สัญญาปากเปล่า สัญญาใจ มีผลทางกฎหมายหรือไม่
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเรื่อง “สัญญาหุ้นส่วน” ก่อนครับ เพราะหลายธุรกิจก็เริ่มต้นจากความเชื่อใจไม่ได้มีการทำสัญญาระหว่างหุ้นส่วนหรือเจ้าของกันไว้เลย
ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ครับ กฎหมายบ้านเราไม่อยากให้การเริ่มทำธุรกิจยุ่งยากจนเกินไปเลย “ไม่มีแบบ” หรือข้อบังคับว่า หุ้นส่วนกันต้องทำสัญญากันด้วย
ดังนั้นต่อให้เป็น “สัญญาใจ”, “สัญญาปากเปล่า” ก็สามารถบังคับตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ตามตามประสบการณ์ของเราเวลาทะเลาะกันแม้ยังไม่ต้องขึ้นศาล มักจะมีฝ่ายที่ “จำไม่ได้” ว่าเคยตกลงหรือคุยอะไรกันไว้ เพราะเขาถือโอกาสว่าไม่มีการทำสัญญากันไว้ ใครจะพูดอะไรก็ได้
การที่ไม่มีสัญญาเป็นหนังหสือแบบนี้จึงเป็นเรื่องความเสี่ยงอย่างมากในระดับหุ้นส่วน
สัญญาหุ้นส่วน ทำยังไง
สัญญาหุ้นส่วนเป็นสัญญาประเภทหนึ่งที่กฎหมายไม่ต้องการให้นำมาจดทะเบียนสู่สาธารณะ ดังนั้นหุ้นส่วนแต่ละคนสามารถทำสัญญากันเองและเก็บไว้ได้
โดยที่ไม่ต้องจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือหน่วยงานราชการอื่น
อย่างไรก็ถ้าหากจะเริ่มทำสัญญาหุ้นส่วนกันแล้วแนะนำให้คนมีประสบการณ์ในการทำสัญญาลักษณะนี้หรือทนายความในสายนี้ช่วยเหลือในการร่าง และกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในสัญญาหุ้นส่วนเพื่อจะได้เป็นประโยชน์
เพราะสัญญาหุ้นส่วนไม่ใช่แค่เอาเป็นหลักฐานในการลงทุนหรือการทำธุรกิจเท่านั้น
แต่ควรจะเป็นแนวทางข้อตกลงเวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นและสามารถกลับมาดูสิ่งที่ตกลงกันไว้ในสัญญานี้เพื่อเอาไปแก้ไขปัญหานั้นได้
สัญญาหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน คืออะไร
หุ้นส่วนประเภทไม่จดทะเบียนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีปัญหามากที่สุด เพราะด้วยความที่ไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับทางทะเบียนมาควบคุม
ทำให้ส่วนใหญ่แล้วจะตกลงกันด้วยปากเปล่า ทำให้ขาดหลักฐานและขาดความเป็นทางการในการดำเนินการทางกฎหมาย และมักจะเป็นการทำธุรกิจกับคนใกล้ตัว ทำให้ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ว่าบทสนทนาไหนเป็นเรื่องจริง บทสนทนาไหนเป็นเรื่องคุยเล่นเล่น
ดังนั้นจึงเริ่มนิยมให้ทำ “สัญญาหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน” เพื่อป้องกันปัญหานี้
ตัวอย่างธุรกิจที่เป็นหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน เช่น ลงขันกับเพื่อนเอาเสื้อผ้ามาขายของออนไลน์ , ลงขันเปิดท้ายตลาดนัด , หุ้นกับเพื่อนทำร้านหมูกระทะ เป็นต้น
ด้วยความที่ว่าธุรกิจบางอย่างจำเป็นต้องอาศัยความคล่องตัวในช่วงเริ่มแรก และต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้การไม่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือนิติบุคคลใดๆ เป็นผลดีกับธุรกิจมากกว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
ดังนั้นหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำธุรกิจที่เป็นลักษณะหุ้นส่วนไม่จดทะเบียนอย่างน้อยน้อยทนายขอแนะนำให้มีสัญญาหุ้นส่วนกันไว้นะครับ
“เพราะไม่ว่าจะปังหรือไม่ปังย่อมต้องมีปัญหาแน่”
รายละเอียดที่ควรมีในสัญญาหุ้นส่วน
สัญญาหุ้นส่วน กฎหมายไมได้กำหนดแบบไว้เฉพาะตายตัว เราจะแนะนำจุดสำคัญๆ ที่คิดว่ายังไงก็ต้องมีการตกลงกันไว้ก่อน
- หุ้นส่วนทุกคนควรเข้าทำสัญญาและลงชื่อกันไว้
- กำหนดวงเงินลงทุน สัดส่วนหุ้น
- อำนาจการบริหาร อำนาจการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร เช่น การซื้อของหรือรายจ่ายที่เกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคน
- เงินเดือน รายได้ การปันผล ผลประโยชน์
- กรณีมีใครผิดสัญญา จะทำยังไง
- เหตุเลิกสัญญา ผลของการเลิกสัญญา เงื่อนไขการซื้อความเป็นเจ้าของคืนจากฝ่ายอื่น
- เหตุสุดวิสัย เป็นต้น
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
เมื่อเราเห็นความสำคัญของการมีสัญญาหุ้นส่วนแล้ว หลายคนมักให้ความสำคัญเฉพาะธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียน
และอาจคิดว่าธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล (กฎหมายบังคับจดทะเบียน) ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาหุ้นส่วนซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
ราชการนั้นบังคับให้เราจดทะเบียนเพียงรายละเอียดที่จำเป็นต่อคนที่จะมาติดต่อเราเท่านั้น เช่น ใครเป็นผู้มีอำนาจสินใจ ใครเป็นหุ้นประเภทใด แต่ไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์เงื่อนไขระหว่างหุ้นส่วนกันเองไว้
สำหรับกฎหมายเอง แม้จะมีการกำหนดไว้หลายส่วนเป็นหน้าที่ หรือสิทธิระหว่างหุ้นส่วนด้วยกัน แต่หุ้นส่วนหลายคนก็ไม่รู้และก็ไม่ได้เหมาะกับทุกธุรกิจ
ดังนั้นแม้จะเป็นทางสู่สามัญนิติบุคคล หรือนิติบุคคลประเภทอื่นๆ ที่ประกอบธุรกิจอยู่และเห็นว่ามีการจดทะเบียนข้อมูลบางอย่างต่อหน่วยงานราชการแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องมีสัญญาหุ้นส่วนนะครับ
สุดท้ายนี้ผมในฐานะทนายความ ที่ทำคดีการทะเลาะกันระหว่างหุ้นส่วนมามาก อยากจะแนะนำให้ทุกธุรกิจได้มีการทำสัญญาหุ้นส่วนกันไว้ เพราะหลายธุรกิจถ้าทะเลาะกับบุคคลภายนอก, ลูกค้า, หรือแม้แต่ลูกจ้าง มักจะไม่กระทบกับอนาคตของกิจการเท่าไหร่ แต่เคสไหนที่เป็นการทะเลาะกันระหว่างหุ้นส่วนแล้วมักจะจบไม่สวย
สอบถามเพิ่มเติม
ติดต่อทนาย
ส่งเมล์
info@champ-lawfirm.com
โทร
065 6060622
แชทไลน์
ID: @champlawfirm
สำนักงาน
47/86 Pattaya Klang Rd.