เครดิตภาพ เฟสบุ๊ควรัตน์พล วรัทย์วรกุล
สารบัญ
- อัพเดท บอส ดิไอคอน กรุ๊ป ที่ไม่ได้ประกันตัว
- เหตุที่ไม่ได้ประกันตัว
- เงื่อนไขการได้รับประกันตัวตามกฎหมาย
- ทำไม บอส ดิไอคอน ไม่ได้ประกันตัว
- เทคนิคการขอประกันตัว ฉบับทำงานจริง
อัพเดท บอส The Icon Group ที่ไม่ได้ประกันตัว
เนื่องจาก บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีผู้เสียหายจำนวนมากได้สมัครเป็นตัวแทนขายสินค้า โดยบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ได้มีการสอนขายสินค้าออนไลน์ วิดีโอคอนเทนต์ มีตัวแทนหรือแม่ทีมชักชวนให้เปิดบิลซื้อค้าของบริษัท และจะได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า และที่สำคัญได้สร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยการนำนักแสดงชั้นนำของประเทศมาเป็นพรีเซนเตอร์ของบริษัทฯ และชักชวนผู้เสียหายให้มาสมัครและลงทุน
ต่อมาเมื่อเสียหายจำนวนมากได้เสียเงินให้กับ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ไปแล้ว ปรากฏว่ามาทราบความจริงในภายหลังว่าเป็นการชวนให้ร่วมลงทุนโดยเน้นระดมทุน เน้นชักชวนคนมาเป็นเครือข่าย มากกว่าเน้นการขายสินค้า รู้อยู่แก่ใจว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถขายให้กับบุคคลอื่นได้ มีราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งเพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด
เนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้บอสทั้ง 18 คน ที่ถูกศาลฝากขังไว้ จึงไม่สามารถขอประกันตัวได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ คดีของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เป็นคดีฉ้อโกงประชาชนโดยผ่านการชักชวนให้ลงทุนซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และอาจมีการย้ายสำนวนคดีจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษต่อไป
สาเหตุที่ไม่ได้ประกันตัว
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีที่ประชาชนหรือสื่อทุกแขนงต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งผู้เสียหายหลายรายได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการประกันตัวของบรรดาบอสทั้งหลาย จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้พิพากษาปฎิเสธในการขอประกันตัว จึงมีสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถขอประกันตัวได้ดังต่อไปนี้
- ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ศาลจะมีคำสั่งให้ไม่ประกันตัวได้ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกัน ไม่น่าเชื่อถือ
(5) การอนุญาตให้ประกันตัวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
- พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ด้วยการใช้สิทธิตามกฎหมายเพราะหากปล่อยให้จำเลยหรือผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะฝ่าฝืนตามข้อ 1 ซึ่งพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะระบุในคำร้องขอฝากขังแล้วยื่นต่อศาลว่า ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา
- จำเลยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มีการงานที่แน่ชัด กล่าวคือ กรณีนี้หากจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งนี้ พนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลอาจเชื่อได้ว่า หากปล่อยตัวไปอาจมีการหลบหนีได้โดยง่ายและไม่อาจตามตัวได้พบ ทั้งนี้เนื่องจากบอสทั้งหลายมีฐานะที่ดีและได้รับเงินจาก ดิ ไอคอน กรุ๊ป ไปแล้วจำนวนมากย่อมเป็นการง่ายที่จะใช้เงินเป็นตัวช่วยในการหลบหนี
- ไม่มีแจ้งถึงเหตุผลในการขอประกันตัวให้ศาลทราบ กล่าวคือ การที่จะยื่นขอประกันตัว จะต้องเขียนเหตุแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุผลอย่างไรที่จะขอประกันตัวออกไปในคำร้อง เช่น ขอไปรักษาตัวเพราะเป็นโรคที่ต้องทำการรักษาอยู่สม่ำเสมอก็ต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยันต่อศาล
- หลักทรัพย์ที่มาขอใช้ประกันตัวไม่น่าเชื่อถือ กล่าวคือ หากมีการวางประกันต่อศาล โดยการใช้หลักทรัพย์หลักทรัพย์นั้นต้องไม่ต่ำกว่ากำหนดที่ศาลให้ประกันและควรเป็นหลักทรัพย์ที่คำนวณเป็นจำนวนเงินแน่นอนได้ เช่น ที่ดิน ตั๋วแลกเงิน สลากออมสิน เงินสด เป็นต้น ส่วนกรณีใช้บุคคลเป็นเป็นประกัน ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งมีหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน อีกทั้งต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิด
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้ไม่น่าเชื่อถือ คือ เป็นผู้ที่เคยได้รับการปล่อยตัวมาแล้วครั้งหนึ่งแต่กลับหลบหนีหรือเคยมีประวัติในการกระทำความผิดมาก่อนพอศาลให้ประกันตัวแล้วกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก
- คดีที่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยทั่วไปต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และความเสียหายต่อประชาชนโดยทั่วไป เช่น ฉ้อโกงประชาชน แชร์ลูกโซ่ ฟอกเงิน ฯลฯ
เงื่อนไขการได้รับประกันตัวตามกฎหมาย มีดังนี้
- ความร้ายแรงของคดี : หากคดีมีความร้ายแรงหรือมีอัตราโทษหนัก เช่น คดียาเสพติด คดีฆาตกรรม หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ศาลอาจพิจารณาให้มีมาตรการประกันตัวที่เข้มงวด หรืออาจปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องหาอาจกระทำผิดซ้ำ
- พฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลย : ศาลจะพิจารณาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเคยกระทำความผิดหรือมีประวัติหลบหนีมาก่อนหรือไม่ หากมีความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาอาจหลบหนี ศาลอาจปฏิเสธคำขอประกันตัว
- ความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ : การประกันตัวจำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ เช่น เงินสด โฉนดที่ดิน หรือหลักทรัพย์ที่เชื่อถือได้เพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่หลบหนี
- ความเสี่ยงต่อการทำลายพยานหลักฐาน : หากศาลพิจารณาว่าผู้ต้องหาอาจทำลายพยานหลักฐาน หรือมีอิทธิพลที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการพิจารณาคดี ศาลอาจปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว
- สถานะทางสังคมและอาชีพ : การมีอาชีพที่มั่นคงและสถานะทางสังคมอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่น่าจะหลบหนีง่าย ๆ
- การยินยอมทำตามเงื่อนไข : ศาลอาจกำหนดเงื่อนไข เช่น ห้ามออกนอกประเทศ ต้องมารายงานตัวตามกำหนด หรือห้ามยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หากผู้ต้องหาหรือจำเลยยินยอมทำตามเงื่อนไข ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวได้
ทำไม บอส ดิไอคอน ไม่ได้ประกันตัว?
เนื่องจากคดีนี้บอสทั้ง 18 คน รวมทั้งดาราทั้ง 3 คน มีการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นระบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนแก่สุจริตชนหรือประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก รวมทั้งมูลค่าความเสียหายสูง
กรณีนี้จึงเป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เสียหายได้ยื่นคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวของบอสทั้ง 18 คน หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อาจมีเหตุที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาหรือบอสทั้ง 18 คน จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ศาลจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ทั้งนี้โดยเฉพาะเรื่องการไป “ยุ่งกับพยานหลักฐาน” เพราะด้วยฐานะบอสย่อมมีอำนาจสั่งการเอกสารภายในบริษัทฯ อันเป็นหลักฐานสำคัญหรือคลิปวีดีโอ แชทพูดคุยต่างๆระหว่างแม่ทีมกับตัวแทนในระดับต่างๆ
เทคนิคการขอประกันตัว ฉบับทำงานจริง มีดังต่อไปนี้
เบื้องต้นผู้ที่จะมาขอประกันตัวได้คือตัวผู้ต้องหาเอง / ญาติผู้ต้องหา / ทนายความ / หรือบุคคลมีประกอบอาชีพราชการ สามารถใช้ยศตำแหน่งยื่นขอประกันได้เช่นกัน มีขั้นตอนการขอประกันดังนี้
- ขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล
- ญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้เรียกว่า นายประกัน สามารถเขียนคำร้องขอประกันตัวได้เอง โดยขอคำแนะนำหรือดูตัวอย่างได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หากผู้ขอประกันเขียนหนังสือไม่ได้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะช่วยเขียนให้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแต่ประการใด หรือหากมีทนายให้ทนายความช่วยเขียนคำร้องให้ได้ครับ
- หลังจากกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อในคำร้องขอประกันตัว หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมิได้ถูกขังอยู่ที่ศาลเป็นหน้าที่ของนายประกันที่จะต้องนำคำร้องไปให้จำเลยหรือผู้ต้องหาลงชื่อ
- นายประกันยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักฐานต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้เลยครับ
- เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ตรวจคำร้องและหลักฐานเรียบร้อยแล้วจะลงบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐานแล้วนำเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้อง เมื่อผู้พิพากษาสั่งคำร้องแล้วจะส่งคำร้องขอประกันกลับคืนไปที่เจ้าหน้าที่ศาล
- เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะแจ้งคำสั่งของศาลให้นายประกันทราบ
- หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน นายประกันอาจต้องวางเงินประกันที่ศาลตามที่ศาลเห็นสมควร โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับหลักฐานการขอประกันและใบรับเงินให้
- เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันแล้ว ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศาลและยังไม่มีการออกหมายขังไว้เลย จะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกจากห้องควบคุมในศาลได้เลย ถ้าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ระหว่างถูกขังตามหมายศาล เจ้าหน้าที่จะนำหมายปล่อยไปปล่อย ณ ที่ถูกคุมขัง
- ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
10. หากศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ผู้ขอประกันขอรับหลักทรัพย์ที่ยื่นไว้คืนได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์
11. กรณีที่ศาลไม่ให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว นายประกันสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังหรือจำเลยได้ โดยการขอประกันในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาได้ต่อไป
สุดท้าย ในคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากและผลกระทบวงกว้าง ซึ่งคดีนี้มีการกระทำเป็นขบวนการที่ส่งผลรุนแรงต่อสังคม ทำให้เป็นการยากที่จะได้รับการประกันตัว อีกทั้งการปฏิเสธการประกันยังเป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่ศาลพิจารณาจากอัตราโทษ ความเสี่ยงต่อพยานหลักฐาน และความร้ายแรงของคดีได้ครับ
เนื้อหาโดย ทนายเกริก
เรียบเรียงโดย ทนายแชมป์
สอบถามเพิ่มเติม
ติดต่อทนาย
ส่งเมล์
info@champ-lawfirm.com
โทร
065 6060622
แชทไลน์
ID: @champlawfirm
สำนักงาน
47/86 Pattaya Klang Rd.