สารบัญเนื้อหา
ใช้เอกสารอะไรบ้าง
จัดการมรดกแบบมีพินัยกรรม
จัดการมรดกชาวต่างชาติ
ตั้งผู้จัดการมรดก
ขึ้นศาลผู้จัดการมรดก
ยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดก
ตัวอย่างแบบฟอร์ม / คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
อายุความ คดีมรดก
ใช้เอกสารอะไรบ้าง
การจัดการมรดก ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนถ้าเรามีการเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ตั้งแต่ญาติของเราเสียชีวิต กระบวนการต่างๆในก็จะราบรื่น ไม่ว่าจะเป็น การขอใบมรณะบัตร การตั้งผู้จัดการมรดก การจัดการทรัพย์มรดก การสืบหามรดก และการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้กับทายาทต่างๆ
มาดูกันครับว่าเอกสารเบื้องต้นที่ต้องมีในการจัดการมรดกมีอะไรกันบ้าง
1. ใบมรณะบัตร
2. สำเนาบัตรประชาชนผู้ตาย
3. สำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย
4. บัญชีเครือญาติ
5. พินัยกรรม (ถ้ามี)
6. หนังสือให้ความยินยอมจากทายาท
7. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินมรดกทุกชิ้น
เมื่อรวบรวมเอกสารข้างต้นไว้แล้วก็นำเอกสารไปพบทนายความหรือพนักงานอัยการให้ยื่นเรื่องต่อศาลขอตั้งให้เราเป็นผู้จัดการมรดกได้เลยครับ
จัดการมรดกแบบมีพินัยกรรม
การจัดการมรดก โดยทั่วไปที่เกิดขึ้นจะเป็นกรณีที่ไม่มีพินัยกรรมโดยแบบที่ไม่มีพินัยกรรมหรือคำสั่งเสียสุดท้ายของผู้ตายเอาไว้ ลักษณะจะออกมาในทางที่ทายาทจะต้องสามัคคี ไม่คัดค้านในการที่เลือกตัวแทนมาเป็นผู้จัดการมรดก และคอยสอดส่องว่ามีการแบ่งทรัพย์มรดกถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ (คดีที่ฟ้องกันเต็มศาลก็มาจากการแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ถูกใจกันเนี่ยแหละครับ)
ว่ากันกรณี การจัดการมรดกแบบมีพินัยกรรม หากเป็นกรณีที่มีพินัยกรรมวิธีการและผลลัพธ์จะแตกต่างจากกรณีข้างต้นหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ตายได้ระบุตัว “ผู้จัดการมรดก” ไว้ในพินัยกรรมอยู่แล้ว และการที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่าใครจะได้ทรัพย์สินอะไรไปจากกองมรดกบางนั่นเอง
อีกหนึ่งสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างกันมากกรณีที่มีพินัยกรรม คือ การที่จะระบุ “ใครก็ได้มารับมรดกแม้ว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องทางสายเลือดก็ตาม” เช่น เพื่อนสนิท กิ๊ก เมียน้อย คนรู้จัก หรือพยาบาลที่คอยดูแลยามบั้นปลาย หากเป็นกรณีที่ไม่มีพินัยกรรมว่ากันง่ายๆ ถ้าเลือดคนละสีก็จะไม่มีทางได้มรดกแน่นอน แต่ถ้าทำพินัยกรรมไว้ “แบบถูกต้องตามกฎหมาย” ก็จะกำหนดอะไรก็ได้ครับ
จัดการมรดกชาวต่างชาติ
การจัดการมรดกของชาวต่างชาติ โดยทั่วไปจะมีกระบวนการ “เหมือนกับคนไทย” ทุกประการด้วยเหตุที่ว่าเป็นการตั้งผู้จัดการมรดกตามกฎหมายไทยนั่นเอง ดังนั้นรายการเอกสารที่ระบุไว้ข้างต้นหากผู้ตายเป็นชาวต่างชาติก็ต้องใช้เช่นกัน
ความยุ่งยากในการจัดการมรดกขั้นแรกของชาวต่างชาติ คือ “เรื่องเอกสาร” เนื่องจากถ้าเป็นเอกสารของไทยศาลจะคุ้นชินกับแบบฟอร์มต่างๆเป็นอย่างดี เช่น สูติบัตร ทะเบียนบ้าน มรณะบัตร เป็นต้น แต่ถ้าเป็นของต่างประเทศแล้วจะไม่ง่ายเลยเพราะแบบฟอร์มราชการของต่างประเทศแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกันนั่นเอง ดังนั้นในการรับรองสำเนาถูกต้องจะต้องผ่านการรับรองโดย “โนตารี พลับบิค” หรือ “สถานกงสุล” มาเสียก่อนมิเช่นนั้นมีโอกาสที่ศาลจะไม่รับรองเอกสารให้สูงเลยทีเดียวครับ
นอกจากเรื่องเอกสารแล้ว การจัดการมรดกสำหรับชาวต่างชาติ จะยุ่งยากในการตามหาทรัพย์มรดกด้วย เพราะประเทศไทยเราจดบันทึกเลขของชาวต่างชาติตาม “เลขหนังสือเดินทาง” ซึ่งหนังสือเดินทางมันจะมีการเปลี่ยนเล่มและออกเล่มใหม่ ไม่ใช่ว่าใช้เล่มเดียวมีเลขที่เดียวตลอดชีพ เหมือนกับเลขประจำตัวประชาชนของเรา
ดังนั้นหากชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยนานๆ มีการเปลี่ยนหนังสือเดินทางไปหลายเล่ม ก็จะเกิดความซับซ้อนและการหาทรัพย์มรดกได้ยากมากๆ
จึงเป็นที่มาว่าทำไมชาวต่างชาติส่วนใหญ่ถึงได้ทำพินัยกรรมกันไว้โดยจะระบุรายละเอียดของทรัพย์สินไว้อย่างละเอียดเพราะกลัวว่าทายาทเขาจะมาหามรดกที่ไทยลำบากนั่นเอง
ตั้งผู้จัดการมรดก
การตั้งผู้จัดการมรดก คือ กระบวนการทางศาลที่รับรองหรือแต่งตั้งให้คนๆหนึ่ง เป็นผู้จัดการมรดก มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการมรดก ตามหา จำหน่าย จ่าย แจก ให้กับทายาทหรือเจ้าหนี้ตามกฎหมาย
แต่ไม่ใช่ว่าทุกการแบ่งมรดกจะต้องตั้งผู้จัดการมรดกเสมอไปนะครับ กฎหมายไทยอนุญาตให้มีการตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลเฉพาะกรณีที่ “มีเหตุขัดข้อง” เท่านั้น โดยเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก เช่น ถอนเงินจากธนาคารไม่ได้ โอนที่ดินหรือบ้านไม่ได้ โอนรถยนต์ไม่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นๆจะเป็นคนบอกเราเองครับว่า ที่ทำไม่ได้เพราะต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน
ขึ้นศาลผู้จัดการมรดก
หลังจากเตรียมเอกสารครบถ้วนและไปหาทนายความแล้ว ต่อไปทนายความก็จะเตรียมเอกสารและยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อไป ขอข้ามมาที่วันไปศาลเลยนะครับ ศาลจะมีการ “ไต่สวนคำร้อง” ขอตั้งผู้จัดการมรดกอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ดังนั้นศาลท่านกับทนายความจะมีการประสานงานกันอย่างรวดเร็ว เร็วและไวแบบที่ว่าเราฟังไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาทำอะไรกัน
สิ่งที่เราต้องเตรียมตัว คือ การขอเอาคำเบิกความที่ทนายเตรียมไว้มาอ่านและจำให้ขึ้นใจครับ เคสปกติทั่วไปนั้นคำเบิกความจะมีความยาวไม่เกินหนึ่งหน้าครึ่ง เพราะฉะนั้นจำง่ายมากโดยทนายจะร่างว่า
- เราเกี่ยวข้องยังไงกับผู้ตาย
- ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้หรือเปล่า
- ผู้ตายตายวันไหนโดยสาเหตุอะไร
- ตอนตายมีทายาทกี่คนใครบ้าง
- แล้วมีมรดกอะไร
- มีเหตุขัดข้องอะไร (ไปโอนทรัพย์สินอะไรไม่ได้)
- มาศาลได้รับความยินยอมจากทายาทคนอื่นหรือยัง
- เป็นผู้ขายคุณสมบัติอะไรไหม?
ยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดก
การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก สามารถยื่นด้วยตนเองก็ได้ครับแต่ต้องทำแบบฟอร์มที่ถูกต้องและยื่นต่อศาลที่ถูกต้อง ซึ่งในทางปฏิบัติทำไม่ได้หรอกครับยากเกินไป ดังนั้นผมแนะนำ 2 วิธีนี้ครับ
1. ยื่นโดยจ้างทนายความ
2. ยื่นโดยพนักงายอัยการ
การยื่นโดยจ้างทนายความจะเสียเงิน แต่โดยพนักงายอัยการจะไม่เสียเงินครับก็จะมีข้อดีและข้อเสียต่างกันเล็กน้อย การยื่นผ่านทนายความเหมาะกับผู้ที่ไม่ติดขัดเรื่องเงินจ้างทนาย และงานจ้างก็ดีกว่างานขอแน่นอนครับ ^^
การยื่นโดยพนักงานอัยการ ได้เข้ามาช่วยทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีกำลังทรัพย์จ้างทนายได้ดำเนินการตรงนี้ได้จริง เพราะหากเงินในบัญชีเหลือไม่มากหรือทรัพย์มรดกไม่ได้มูลค่า คุ้มที่จะจ้างทนายก็ได้อัยการนี้แหละครับเข้ามาปลดทุกข์ตรงนี้ให้
ตัวอย่างแบบฟอร์ม / คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
สำหรับแบบฟอร์มในการยื่นของตั้งผู้จัดการมรดกมีดังนี้ครับ
- แบบฟอร์ม คำร้อง (7) ของศาลยุติธรรม
- แบบฟอร์ม บัญชีพยาน ของศาลยุติธรรม
- แบบฟอร์ม บัญชีเครือญาติ
- แบบฟอร์ม หนังสือให้ความยินยอม
- แบบฟอร์ม ใบแต่งทนายความ (กรณีแต่งทนายความ)
สำหรับท่านใดที่ต้องการแบบฟอร์มนี้สามารถ คลิ๊ก เพื่อขอแบบฟอร์มที่ต้องการจากทางสำนักงานได้เลยครับ “ไม่มีค่าใช้จ่าย”
อายุความ คดีมรดก
สุดท้ายเมื่อจัดการมรดกแล้วแต่จะต้องทะเลาะกับทายาท เพราะการแบ่งทรัพย์มรดกไม่เป็นธรรมหรือมีเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนดำเนินการใดๆ คือเรื่องของ “อายุความมรดก”
ตามกฎหมายเราอายุความมรดกมีเพียง 1 ปี เท่านั้น ดังนั้นแล้วหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เจ้าหนี้หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียให้รีบดำเนินการตามสิทธิของตัวเองก่อนจะ “ขาดอายุความ” นะครับ
ความจริงแล้วจะมีระยะเวลาอายุความ 5 ปีและ 10 ปี ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีอีกให้พิจารณาในบทความนี้ผมขอยังไม่ลงลึกในส่วนนี้ ดังนั้นหากใครที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับมรดกแล้วแนะนำให้รีบปรึกษาทนายความก่อนที่สิทธิของคุณจะเรียกร้องทางกฎหมายไม่ได้นะครับ
สอบถามเพิ่มเติม
ติดต่อทนาย
ส่งเมล์
info@champ-lawfirm.com
โทร
065 6060622
แชทไลน์
ID: @champlawfirm
สำนักงาน
47/86 Pattaya Klang Rd.