ไม่มีพินัยกรรม ใครได้มรดกเยอะที่สุด

พินัยกรรม มรดก

“มรดก” เป็นเรื่องที่ทำให้หลายครอบครัวแตกแยก ฟ้องร้อง ดำเนินคดีจนตัดญาติขาดมิตรกันมาหลายบ้านแล้ว ซึ่งปัจจุบันการทำพินัยกรรมไว้เป็นทางออกที่หลายคนสนใจ เพราะสามารถกำหนดได้เลยว่าจะให้ทรัพย์สินที่เหลืออยู่กับใครคนไหนได้บ้าง

แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงเคสที่ ไม่มีการทำพินัยกรรม ว่าใครจะได้มรดกเยอะที่สุด 

แยกสินสมรสออกจากมรดกก่อน

ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดตามประสบการณ์ของผมในฐานะทนายความมากว่า 10 ปี คือ การปะปนกันระหว่าง “มรดก” กับ “สินสมรส” ในเคสที่คนตายมีคู่สมรส (จดทะเบียนสมรสเท่านั้นนะจ๊ะ)

ถ้าใครจะไม่รู้ว่าตามกฎหมายอะไรเป็นสินสมรส สินส่วนตัว ให้ไปศึกษาที่บทความนี้ก่อนได้นะครับ = > > > “อะไรเป็นสินสมรสบ้าง?”

ในที่นี้จะขอสรุปไว้แค่ว่า เงินทองหรือทรัพย์สินที่ได้มาเป็นชื่อหรือการครอบครองของคนตายหลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วนั้น ทั่วไปแล้วจะเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่ง คนละครึ่งกับคู่สมรส ของเราด้วย ไม่ว่าเขาจะช่วยเราหาเงินหรือทรัพย์สินนั้นๆมาหรือไม่ก็ตาม

วิธีแยกไม่ซับซ้อนครับ อะไรที่เป็นสินสมรสให้แบ่งให้คู่สมรส (สามีหรือภริยา) ก่อนเลยครึ่งหนึ่ง…

ใช่ครับแค่เริ่มมา คู่สมรสก็ได้ทรัพย์สินไปแล้วครึ่งหนึ่ง (เฉพาะส่วนที่เป็นสินสมรสนะ)

ใครได้มรดกบ้าง ถ้าไม่มีพินัยกรรม

พอตัดสินสมรสไป เราก็จะได้สิ่งที่ เรียกว่า “กองมรดก” (มาตรา 1600 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)​

“มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆเว้นแต่ตามกฏหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้”

เอาล่ะครับเมื่อได้แล้ว มาดูกันว่าใครจะได้มรดกบ้างก่อนที่จะไปแบ่งสัดส่วน (แต่อย่าลืมหนี้สินนะ ต้องหักหนี้สินของเราออกไปก่อน ถ้ามันเหลือจริงๆ ถึงจะเป็น มรดกเอามาแบ่งกันได้จ้า)

เรื่องนี้กฎหมายได้กำหนดเอาไว้แล้ว

ตามมาตรา 1629, 1630 และ 1635 ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์

ซึ่งผมขอสรุปให้เข้าใจง่ายๆว่า ถ้ามีลำดับต้นแล้วลำดับต่อไปจะไม่ได้มรดกเลย ย้ำนะครับไม่ได้เลยแม้แต่บาทแม้แต่เสี้ยวด้วย ยกเว้น พ่อแม่กับคู่สมรสที่จะได้แบ่งกันเหมือนเป็นลูก 1 คนครับ ตามหลักที่ว่า “ญาติชิดตัดญาติห่าง”

ลำดับทายาทที่จะได้มรดก (ทายาทโดยธรรม)

  1. ผู้สืบสันดาน
  2. บิดามารดา
  3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  4. พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
  5. ปู่ ย่า ตา ยาย
  6. ลุง ป้า น้า อา

ต่อไปเราลองดูสัดส่วนกันบ้างครับ

ลูกนอกสมรสได้มรดกไหม

เรื่องมรดกจะเป็นเรื่องทางสายเลือดครับ เพราะงั้นต่อให้เป็นลูกที่ไม่ได้เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรส หรือ “ลูกนอกสมรส” ก็ถือว่าได้มรดกเหมือนลูกๆคนอื่นตามกฎหมายทุกประการ

ไม่มีพินัยกรรมจะแบ่งมรดกยังไง

หลังจากรู้แล้วว่าใครได้มรดกบ้าง เราก็เอามรดก “หารจำนวนคนได้เลยครับ” เพราะกฎหมายให้เป็นลำดับต้นตัดสิทธิลำดับท้าย และ ให้ทายาทที่อยู่ลำดับเดียวกันได้มรดกส่วนเท่ากัน เช่น มีลูก 3 คน ลูกทั้งสามคนก็ต้องได้มรดกสัดส่วนเท่ากัน ไม่ใช่ว่าลูกคนโตได้มรดกเยอะกว่า (ไม่ใช่หนังจีน) เป็นต้น

แต่จะมีเรื่อง คู่สมรสที่มีความเฉพาะไว้นิดนึง คือ ถ้าแบ่งกับลูกหารเท่า, แบ่งกับพ่อแม่ได้ครึ่งหนึ่ง (อีกครึ่งไปหารกันเอง), แบ่งกับพี่น้องคนตายได้ครึ่งหนึ่ง, แบ่งกับพี่น้องคนตายแต่คนละพ่อคนละแม่ 2/3 , ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้าน้า อา 2/3 จำไม่หมดปรึกษาทนายต่อแบ่งดีกว่า…​

การแบ่งมรดก คู่สมรส บุตร

ผมอยากจะยกตัวอย่างที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อยที่สุด พร้อมกับคำนวณตัวเลขให้ดูเลย คือ กรณีที่คุณพ่อเสียชีวิตมีทรัพย์สิน 6 ล้านบาท จดทะเบียนสมรสกับแม่และหารายได้ด้วยกันมาทั้งหมด ปู่ย่าเสียไปก่อนนั้นแล้ว และมีลูก 2 คน แบบนี้ใครได้มรดกเท่าไหร่กันบ้างมาดูกันครับ

  1. แยกสินสมรสออกมาก่อนครับ = 3 ล้านบาท ให้คุณแม่ก่อนในฐานะสินสมรสไม่ใช่มรดก
  2. มรดก 3 ล้านบาท แบ่งให้กับ = คุณแม่และลูก 2 คน รวมทั้งหมด 3 คน
  3. เฉลี่ยเท่ากับ = แม่ 1 ล้าน, ลูกคนละ 1 ล้านบาท
  4. สรุป
    • แม่ 4 ล้านบาท (รวมสินสมรส)
    • ลูกคนโต 1 ล้านบาท
    • ลูกคนเล็ก 1 ล้านบาท

สรุปแล้ว… ใครได้มรดกเยอะสุด

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพไม่ใช้ภาษากฎหมายมากมาย เมื่อคนตายแล้ว มีคู่สมรสถ้าไม่ทำพินัยกรรมไว้ คู่สมรสจะได้ทรัพย์สินของคนตาย ซึ่งในที่นี้ก็รวมเป็นทั้งสินสมรสและมรดก เยอะที่สุดครับ ไม่ว่าจะแบ่งกับ พ่อแม่คนตาย ลูกหรือญาติพี่น้องคนไหนๆ

หากใครพอรู้วิธีการแบ่งทรัพย์สินตามกฎหมายแบบนี้แล้ว รู้สึกไม่พอใจ ไม่ตรงใจ อยากออกแบบเองกำหนดสัดส่วนเอง เพราะคนที่เราให้คุณค่าในชีวิตเราอาจไม่ใช่คนที่กฎหมายกำหนดไว้ สามารถทำพินัยกรรมไว้ก่อนเสียชีวิตได้ครับผม

ความจริงมีเคสพิศดารอีกเยอะเลยนะครับ เช่น มีภริยาหลายคน ลูกนอกสมรส ลูกทำร้ายคนตาย อีกมากเลยแต่คงต้องไว้คราวหน้าล่ะครับ

ถ้าไม่รู้จะเริ่มทำพินัยกรรมยังไง ติดต่อทีมทนายความของเราได้เลยครับ เรายินดีให้บริการ

เนื้อหา : นาเดียร์

เรียบเรียง : ทนายแชมป์

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย

ใส่ความเห็น