ถ้าหุ้นส่วนตาย ทำอย่างไรต้องปิดกิจการหรือไม่

partner gone th

สารบัญ

การทำธุรกิจที่เริ่มต้นจากคนใกล้ชิด เราจะให้ความสำคัญต่อความสามารถและสายสัมพันธ์เพราะเราเป็นคนเลือกเองว่าจะให้ใครเป็นร่วมธุรกิจกับเรา

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่คบกับมานานจึงเกิดความไว้ใจให้ดูแลเรื่องเงิน หรือคนเก่งที่เราประทับใจฝีมือการทำสินค้าบริการ หรือญาติที่เก่งการบริหารมาก

วันนี้ผมจะหยิบปัญหาหนึ่งที่หลายคนไม่ทราบว่า “ถ้าหุ้นส่วนตาย อาจต้องปิดกิจการ” เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจ จนกระทั่งไปจบที่ศาลกันมามากแล้ว

หุ้นส่วนในบทความนี้ ไม่ได้หมายความถึงหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน เพราะสองหน่วยนี้มีการแยกตัวธุรกิจเป็นนิติบุคคลชัดเจนออกจาก ตัวบุคคลของเจ้าของหรือหุ้นส่วนต่างๆ

วันนี้ผมจะมาเล่าในมุมของ ห้างหุ้นส่วนสามัญ (กิจการบ้านๆ) และห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่ยังคงอาศัยความเฉพาะตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่

หุ้นส่วนตาย กฎหมายบังคับปิดกิจการ

ใช่ครับ เพราะ กฎหมายมองว่าการมีตัวตนของหุ้นส่วนสำคัญต่อกิจการเป็นทั้งหัวใจหลัก และกำลังแรงกายแรงใจ และถ้าไม่มีหุ้นส่วนคนนี้ก็ทำให้หุ้นส่วนคนอื่นๆ ไม่อยากทำกิจกรรมด้วยจึงกำหนดไว้ว่าถ้าหุ้นส่วนผู้จัดการตายให้กิจการหยุดลงทันที

เมื่อกิจการหยุดลงก็จะต้องทำการชำระบัญชีคำนวณกำไรขาดทุน และจัดสรรปันส่วนชำระหนี้ หากเหลือเงินก็แบ่งตามสัดส่วน หรือตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ต่อไป

ต้องทำธุรกิจกับลูกหลาน ของหุ้นส่วนที่ตายไปแล้วหรือไม่

เรื่องนี้ต้องย้อนไปดูครับว่าตอนที่ทำสัญญาหุ้นส่วนกันได้ตกลงกันเรื่องนี้ไว้หรือเปล่า หากตกลงกันไว้ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าถ้าตายไป ก็ให้กิจการยังดำเนินต่อไปได้โดยให้ทายาทเข้าไปเป็นหุ้นส่วนต่อ

ถ้ามีการระบุไว้แบบนี้กิจการจะยังไม่หยุดตามที่ผมเล่าไปข้างต้นแต่ทายาทก็จะเข้าเป็นหุ้นส่วนกับเราแทนครับ

ดังนั้นเราก็ต้องทำธุรกิจไปกับลูกลูกหลานของคนที่ตายไปแล้วตามที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรกนั่นเอง นอกจากจะตกลงทำสัญญากันแล้วยังสามารถที่จะบันทึกข้อบังคับนี้ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วยในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน

หุ้นส่วนตาย หนี้ในกิจการทำอย่างไร

กรณีหุ้นส่วนตายไปแล้วแต่กิจการยังคงมีหนี้ที่ต้องชำระกับเจ้าหนี้อยู่ ก็ต้องเริ่มจากการชำระบัญชีในกิจการก่อนครับว่ายังเหลือทรัพย์สิน หรือรายได้เท่าไหร่จากนั้นก็ถึงนำไปจ่ายหนี้

หากมีส่วนที่เหลือเหลืออยู่ก็ค่อยมาแบ่งกันตามสัดส่วน

แต่หากเป็นกรณีที่เหลือไม่พอหนี้ เจ้าหนี้ก็จะยังสามารถไปเรียกเก็บหนี้จากกองมรดกของคนตายส่วนอื่นๆได้อีก (เฉพาะกรณีเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด)

เวลาเกิดเรื่องแบบนี้แล้วหุ้นส่วนคนอื่นๆจากโยน ให้เจ้าหนี้นั้นไปเอาเงินหรือเก็บหนี้จากกองมรดกส่วนอื่นๆก่อนไม่ได้

เพราะถ้าเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการแล้วก็ต้องใช้ทรัพย์สินของกิจการในการชำระก่อน

สิ่งที่ต้องทำเมื่อหุ้นส่วนตาย

อย่างแรก ให้ตรวจสอบดูก่อนครับว่าสัญญาหุ้นส่วนที่เคยทำกันไว้หรือข้อบังคับเกี่ยวกับหุ้นส่วนมีการระบุเรื่องทายาทเข้าเป็นหุ้นส่วนแทนที่หรือไม่

ถ้าไม่มีการระบุไว้จะต้องเลิกห้างครับหรือปิดกิจการนั่นเอง (ปิดกิจการในความหมายนี้ คือ การยุตติธุรกิจนี้ในฐานะเป็นหุ้นส่วนนะครับ

ส่วนเราจะยังเปิดร้านขายของกับลูกค้าในนามส่วนตัวต่อจากนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ถ้ามีการระบุไว้ทายาทก็จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนครับโดยเริ่มจากการติดต่อผู้จัดการมรดกของหุ้นส่วนที่ตาย แล้วเร่งสอบถามว่าทายาทคนไหนจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วน

เพื่อให้การดำเนินการของกิจการดำเนินต่อไปได้อย่างไม่ขาดช่วง

สรุปแล้ว ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ความคงอยู่ของหุ้นส่วนผู้จัดการมีความสำคัญอย่างมาก

อย่างกรณีนี้หลายคนไม่ทราบว่าจะต้องปิดกิจการหรือเลิกหุ้นส่วนไปด้วย ดังนั้นไม่ว่าธุรกิจของท่านจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่อย่างไรในการเริ่มต้นทำธุรกิจแนะนำให้จัดหาทนายความ

เพื่อทำสัญญาหุ้นส่วนกำหนดและทบทวนสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายต่อไป

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย