สั่งออนไลน์รับสินค้ามาแล้วขอคืนภายใน 30 วัน

Product returns

รับสินค้ามาแล้ว ขอคืนของได้ไหม?

     การซื้อสินค้าออนไลน์หรือที่ร้านค้าบางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาการคืนสินค้าหรือขอรับการซ่อมแซม หากสินค้ามีปัญหา ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ สิทธิ์ในการคืนสินค้า  รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ  ที่ผู้บริโภคควรทราบเมื่อเจอสถานการณ์เหล่านี้ค่ะ

สารบัญ

การคืนสินค้าตามกฎหมายซื้อขายทั่วไป ขอแยกในแต่ละมาตราให้เข้าใจง่ายดังนี้นะคะ

ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 465 ถึง 473 การคืนสินค้าจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดที่ระบุในสัญญาซื้อขาย และอาจมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น

  1. สินค้าน้อยกว่าที่ตกลง ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะไม่รับสินค้านั้นได้เลย หรือหากรับสินค้าส่วนนั้นแล้ว ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินตามสัดส่วนที่ได้รับ (จ่ายน้อยลง)
  2. สินค้ามากกว่าที่ตกลง ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะรับสินค้าตามที่สัญญา หรือจะปฏิเสธทั้งหมดได้ หากผู้ซื้อรับสินค้าทั้งหมดจะต้องจ่ายเงินตามสัดส่วนของสินค้าที่รับมา (จ่ายมากขึ้น)
  3. มีสินค้าหรือของอย่างอื่นปนมาด้วย หากผู้ขายส่งมอบสินค้าผสมกับสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะรับแค่สินค้าตามสัญญาและคืนส่วนที่เกิน หรือจะปฏิเสธทั้งหมดก็ได้
  4. สินค้ามีความชำรุดหรือบกพร่อง ตาม มาตรา 472 หากสินค้าที่ขายมีความชำรุดหรือบกพร่องจนทำให้เสื่อมความเหมาะสมในการใช้งาน ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น ไม่ว่าผู้ขายจะรู้หรือไม่รู้ถึงข้อบกพร่องนั้น
  5. กรณีผู้ซื้อรู้ถึงความชำรุด ตาม มาตรา 473 ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อรู้หรือควรจะรู้ถึงข้อบกพร่องของสินค้าเมื่อทำการซื้อขาย และผู้ซื้อยอมรับสินค้านั้นโดยไม่มีการทักท้วง

กฎมายเฉพาะการคืนสินค้า “จ่ายเงินปลายทาง” หรือ COD

ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567

ในข้อ 4 (4) ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การที่ผู้บริโภค มีสิทธิ์ในการปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือขอคืนสินค้า หากมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ของไม่ตรงกับที่สั่ง หรือ ของชำรุด

ผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อหรือสินค้าที่สั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง ให้ผู้ส่งสินค้ารับสินค้าคืนจากผู้บริโภคและส่งกลับคืนไปยังผู้ขาย

  • ของที่ไม่ได้สั่ง

ผู้บริโภคไม่ได้มีการสั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งให้ผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินปลายทาง หากผู้บริโภคได้หลงชำระเงินให้กับผู้ส่งสินค้าไปแล้วผู้บริโภคมีระยะเวลาในการทักท้วงหรือแจ้งกับผู้ส่งสินค้าว่าตนไม่ได้เป็นผู้สั่งภายในระยะเวลา 5 วันนับแต่วันที่รับสินค้า เว้นแต่ผู้ส่งสินค้าจะพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคเป็นผู้ซื้อสินค้านั้นจริงๆ

  • การของตรวจสินค้าก่อนจ่ายเงิน

ตอนที่รับของจากผู้ส่งสินค้า (บริษัทขนส่งต่างๆ) ให้ทำการบันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอเป็นหลักฐานไว้ หากตรวจสอบพบว่าสินค้านั้นไม่ตรงกับที่สั่ง พวกเราคนซื้อมีสิทธิ์ในการปฏิเสธรับสินค้านั้นได้

ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้มีการตรวจเช็คสินค้า การเปิดสินค้าและสินค้านั้นไม่ตรงตามที่สั่ง และระยะเวลาเกินกว่าห้าวันแล้ว ผู้บริโภคได้ทำการโต้แย้งกับผู้ขายแต่ผู้ขายไม่ได้มีการตอบโต้อะไรกลับถือได้ว่าผู้ขายรับข้อเท็จจริง ตามที่ผู้บริโภคโต้แย้งผู้ขายจึงมีหน้าที่ต้อง รับสินค้าคืนจากผู้บริโภคพร้อมคืนเงินที่ผู้บริโภคได้จ่ายไปแล้ว

คนขายกำหนดเงื่อนไขการคืนสินค้าเอง

ผู้ขายมีสิทธิ์กำหนดเงื่อนไขการคืนสินค้าของตนเอง โดยอาจมีข้อกำหนดเช่น:

  • ระยะเวลา: เช่น คืนสินค้าได้ภายใน 30 วันหลังจากรับสินค้า
  • สภาพสินค้า: สินค้าต้องอยู่ในสภาพที่ไม่ได้ใช้หรือยังคงอยู่ในบรรจุภัณฑ์เดิม
  • เหตุผลการคืน: บางครั้งการคืนสินค้าจะอนุญาตเฉพาะในกรณีที่สินค้ามีข้อบกพร่อง หรือไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่ง
  • ค่าใช้จ่ายในการคืน: ผู้ขายอาจกำหนดให้ผู้ซื้อรับผิดชอบค่าขนส่งในการคืนสินค้า หรืออาจมีนโยบายที่ผู้ขายรับผิดชอบค่าขนส่งเอง

เริ่มใช้ของไปแล้วคืนได้ไหม

การคืนสินค้าที่ใช้ไปแล้วนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ขายและประเภทของสินค้า แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ขายมักจะไม่รับคืนสินค้าที่ได้ถูกใช้งานไปแล้ว ยกเว้นในกรณีที่:

  • สินค้าชำรุดจากการผลิต: หากสินค้ามีข้อบกพร่องจากการผลิต ผู้ซื้ออาจสามารถขอคืนได้ แม้จะใช้ไปแล้ว
  • สินค้าที่ไม่สามารถคืนได้หลังใช้งาน: สินค้าบางประเภท เช่น อาหาร, เครื่องสำอาง, เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้ว หรือสินค้าสุขอนามัย (เช่น ถุงยางอนามัย, แปรงสีฟัน) มักจะไม่สามารถคืนได้
  • นโยบายของผู้ขาย: ผู้ขายบางรายอาจมีความยืดหยุ่นในการรับคืนสินค้าแม้จะใช้งานไปแล้ว ถ้ามีการรับประกันสินค้า

สินค้าที่ไม่สามารถคืนได้

สินค้าที่ไม่สามารถคืนได้มักจะมีข้อกำหนดเฉพาะที่ผู้ขายหรือผู้ผลิตตั้งไว้ เพื่อป้องกันการฉ้อโกงหรือการใช้สินค้าแล้วคืนไป เช่น สินค้าที่ใช้แล้วหรือมีลักษณะเฉพาะที่ไม่สามารถขายต่อได้ นี่คือลักษณะสินค้าบางประเภทที่มักจะไม่สามารถคืนได้:

  • สินค้าที่ใช้แล้วหรือเปิดใช้แล้ว
  • เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว: หากเปิดใช้แล้วหรือทดสอบบนผิวหนัง เช่น ครีม, ลิปสติก, เครื่องสำอางต่างๆ มักจะไม่สามารถคืนได้ เพราะไม่สามารถนำมาขายต่อได้ในสภาพเดิม
  • เสื้อผ้าและชุดชั้นใน: โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ได้สวมใส่แล้ว หรือชุดชั้นใน ที่อาจมีปัญหาเรื่องสุขอนามัย
  • อุปกรณ์กีฬา: เช่น รองเท้ากีฬา, เสื้อผ้าออกกำลังกาย ที่สวมใส่แล้ว
  • สินค้าที่มีการเปิดบรรจุภัณฑ์หรือใช้งานแล้ว
  • อาหารหรือเครื่องดื่ม: สินค้าเหล่านี้ไม่สามารถคืนได้หากเปิดบรรจุภัณฑ์หรือมีการบริโภคแล้ว
  • อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการติดตั้งหรือใช้งาน: หากมีการติดตั้งหรือใช้งานไปแล้วบางส่วน เช่น สมาร์ทโฟน, แล็ปท็อป, หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อาจไม่สามารถคืนได้ ยกเว้นกรณีที่สินค้าเสียหายจากการผลิต

คืนของหรือประกันซ่อมแซม

การคืนสินค้า และ การประกันซ่อมแซม ต่างกันในหลายแง่มุมเบื้องต้นดังนี้ค่ะ

การคืนสินค้า: ใช้ในกรณีที่สินค้ามีปัญหาหรือไม่ตรงตามคำสั่งซื้อ เช่น ขนาดผิด, สินค้าชำรุด โดยมักจะมีระยะเวลาในการคืนสินค้า เช่น 7-30 วัน

การประกันซ่อมแซม: ใช้ในกรณีที่สินค้ามีข้อบกพร่องจากการผลิตและอยู่ภายในระยะเวลาประกัน การประกันจะครอบคลุมการซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดจากข้อผิดพลาดของผู้ผลิตเท่านั้น และไม่ครอบคลุมกรณีการใช้งานผิดวิธีหรืออุบัติเหตุ

สรุป

      การคืนสินค้าและการประกันซ่อมแซมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ขาย หากสินค้ามีปัญหาหรือไม่ตรงตามคำสั่งซื้อ ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการประกันซ่อมแซมครอบคลุมกรณีสินค้ามีข้อบกพร่องจากการผลิตเท่านั้น

เนื้อหาโดย ทนายจัสมิน / เรียบเรียงโดย ทนายแชมป์

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย