ทำไมบอสดิไอคอน ไม่ได้ประกันตัว

The Icon

เครดิตภาพ เฟสบุ๊ควรัตน์พล วรัทย์วรกุล

สารบัญ

  1. อัพเดท บอส ดิไอคอน กรุ๊ป ที่ไม่ได้ประกันตัว
  2. เหตุที่ไม่ได้ประกันตัว
  3. เงื่อนไขการได้รับประกันตัวตามกฎหมาย
  4. ทำไม บอส ดิไอคอน ไม่ได้ประกันตัว
  5. เทคนิคการขอประกันตัว ฉบับทำงานจริง

อัพเดท บอส The Icon Group ที่ไม่ได้ประกันตัว

เนื่องจาก บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีผู้เสียหายจำนวนมากได้สมัครเป็นตัวแทนขายสินค้า โดยบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ได้มีการสอนขายสินค้าออนไลน์ วิดีโอคอนเทนต์ มีตัวแทนหรือแม่ทีมชักชวนให้เปิดบิลซื้อค้าของบริษัท และจะได้ผลตอบแทนจากการขายสินค้า และที่สำคัญได้สร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยการนำนักแสดงชั้นนำของประเทศมาเป็นพรีเซนเตอร์ของบริษัทฯ และชักชวนผู้เสียหายให้มาสมัครและลงทุน

ต่อมาเมื่อเสียหายจำนวนมากได้เสียเงินให้กับ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ไปแล้ว ปรากฏว่ามาทราบความจริงในภายหลังว่าเป็นการชวนให้ร่วมลงทุนโดยเน้นระดมทุน เน้นชักชวนคนมาเป็นเครือข่าย มากกว่าเน้นการขายสินค้า รู้อยู่แก่ใจว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถขายให้กับบุคคลอื่นได้ มีราคาสูงกว่าท้องตลาด ทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งเพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด

เนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้บอสทั้ง 18 คน ที่ถูกศาลฝากขังไว้ จึงไม่สามารถขอประกันตัวได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ คดีของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เป็นคดีฉ้อโกงประชาชนโดยผ่านการชักชวนให้ลงทุนซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก และอาจมีการย้ายสำนวนคดีจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อพิจารณารับเป็นคดีพิเศษต่อไป

สาเหตุที่ไม่ได้ประกันตัว

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีที่ประชาชนหรือสื่อทุกแขนงต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งผู้เสียหายหลายรายได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการประกันตัวของบรรดาบอสทั้งหลายนี้ไว้ จึงเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้พิพากษาปฎิเสธในการขอประกันตัวของบอสทั้งหลายนี้ไว้ จึงมีสาเหตุต่างที่ทำให้ไม่สามารถขอประกันตัวได้ดังต่อไปนี้

  • ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ศาลจะมีคำสั่งให้ไม่ประกันตัวได้ดังต่อไปนี้
    (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
     (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
     (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
    (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกัน ไม่น่าเชื่อถือ
     (5) การอนุญาตให้ประกันตัวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
  • พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ด้วยการใช้สิทธิตามกฎหมายเพราะหากปล่อยให้จำเลยหรือผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวไปเกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะฝ่าฝืนตามข้อ 1  ซึ่งพนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะระบุในคำร้องขอฝากขังแล้วยื่นต่อศาลว่า ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา
  • จำเลยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มีการงานที่แน่ชัด กล่าวคือ กรณีนี้หากจำเลยหรือผู้ต้องหาที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งนี้ พนักงานอัยการหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลอาจเชื่อได้ว่า หากปล่อยตัวไปอาจมีการหลบหนีได้โดยง่ายและไม่อาจตามตัวได้พบ ทั้งนี้เนื่องจากบอสทั้งหลายมีฐานะที่ดีและได้รับเงินจาก ดิ ไอคอน กรุ๊ป ไปแล้วจำนวนมากย่อมเป็นการง่ายที่จะใช้เงินเป็นตัวช่วยในการหลบหนี
  • ไม่มีแจ้งถึงเหตุผลในการขอประกันตัวให้ศาลทราบ กล่าวคือ การที่จะยื่นขอประกันตัว จะต้องเขียนเหตุแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุผลอย่างไรที่จะขอประกันตัวออกไปในคำร้อง เช่น ขอไปรักษาตัวเพราะเป็นโรคที่ต้องทำการรักษาอยู่สม่ำเสมอก็ต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยันต่อศาล
  • หลักทรัพย์ที่มาขอใช้ประกันตัวไม่น่าเชื่อถือ กล่าวคือ หากมีการวางประกันต่อศาล โดยการใช้หลักทรัพย์หลักทรัพย์นั้นต้องไม่ต่ำกว่ากำหนดที่ศาลให้ประกันและควรเป็นหลักทรัพย์ที่คำนวณเป็นจำนวนเงินแน่นอนได้ เช่น ที่ดิน ตั๋วแลกเงิน สลากออมสิน เงินสด เป็นต้น ส่วนกรณีใช้บุคคลเป็นเป็นประกัน ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งมีหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน อีกทั้งต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิด
  • ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้ไม่น่าเชื่อถือ คือ เป็นผู้ที่เคยได้รับการปล่อยตัวมาแล้วครั้งหนึ่งแต่กลับหลบหนีหรือเคยมีประวัติในการกระทำความผิดมาก่อนพอศาลให้ประกันตัวแล้วกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก
  • คดีที่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยทั่วไปต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และความเสียหายต่อประชาชนโดยทั่วไป เช่น ฉ้อโกงประชาชน แชร์ลูกโซ่ ฟอกเงิน ฯลฯ

เงื่อนไขการได้รับประกันตัวตามกฎหมาย มีดังนี้

  • ความร้ายแรงของคดี : หากคดีมีความร้ายแรงหรือมีอัตราโทษหนัก เช่น คดียาเสพติด คดีฆาตกรรม หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ศาลอาจพิจารณาให้มีมาตรการประกันตัวที่เข้มงวด หรืออาจปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องหาอาจกระทำผิดซ้ำ
  • พฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลย : ศาลจะพิจารณาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเคยกระทำความผิดหรือมีประวัติหลบหนีมาก่อนหรือไม่ หากมีความเสี่ยงที่ผู้ต้องหาอาจหลบหนี ศาลอาจปฏิเสธคำขอประกันตัว
  • ความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ : การประกันตัวจำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ เช่น เงินสด โฉนดที่ดิน หรือหลักทรัพย์ที่เชื่อถือได้เพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่หลบหนี
  • ความเสี่ยงต่อการทำลายพยานหลักฐาน : หากศาลพิจารณาว่าผู้ต้องหาอาจทำลายพยานหลักฐาน หรือมีอิทธิพลที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการพิจารณาคดี ศาลอาจปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว
  • สถานะทางสังคมและอาชีพ : การมีอาชีพที่มั่นคงและสถานะทางสังคมอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่น่าจะหลบหนีง่าย ๆ
  • การยินยอมทำตามเงื่อนไข : ศาลอาจกำหนดเงื่อนไข เช่น ห้ามออกนอกประเทศ ต้องมารายงานตัวตามกำหนด หรือห้ามยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หากผู้ต้องหาหรือจำเลยยินยอมทำตามเงื่อนไข ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวได้

ทำไม บอส ดิไอคอน ไม่ได้ประกันตัว?

เนื่องจากคดีนี้บอสทั้ง 18 คน รวมทั้งดาราทั้ง 3 คน มีการกระทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเป็นระบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง สร้างความเดือดร้อนแก่สุจริตชนหรือประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก รวมทั้งมูลค่าความเสียหายสูง

กรณีนี้จึงเป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้เสียหายได้ยื่นคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวของบอสทั้ง 18 คน หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว อาจมีเหตุที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาหรือบอสทั้ง 18 คน จะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ศาลจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ทั้งนี้โดยเฉพาะเรื่องการไป “ยุ่งกับพยานหลักฐาน” เพราะด้วยฐานะบอสย่อมมีอำนาจสั่งการเอกสารภายในบริษัทฯ อันเป็นหลักฐานสำคัญหรือคลิปวีดีโอ แชทพูดคุยต่างๆระหว่างแม่ทีมกับตัวแทนในระดับต่างๆ

เทคนิคการขอประกันตัว ฉบับทำงานจริง มีดังต่อไปนี้

เบื้องต้นผู้ที่จะมาขอประกันตัวได้คือตัวผู้ต้องหาเอง / ญาติผู้ต้องหา / ทนายความ / หรือบุคคลมีประกอบอาชีพราชการ สามารถใช้ยศตำแหน่งยื่นขอประกันได้เช่นกัน มีขั้นตอนการขอประกันดังนี้

  1. ขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล
  2. ญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้เรียกว่า นายประกัน สามารถเขียนคำร้องขอประกันตัวได้เอง โดยขอคำแนะนำหรือดูตัวอย่างได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หากผู้ขอประกันเขียนหนังสือไม่ได้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะช่วยเขียนให้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแต่ประการใด หรือหากมีทนายให้ทนายความช่วยเขียนคำร้องให้ได้ครับ
  3. หลังจากกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อในคำร้องขอประกันตัว หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมิได้ถูกขังอยู่ที่ศาลเป็นหน้าที่ของนายประกันที่จะต้องนำคำร้องไปให้จำเลยหรือผู้ต้องหาลงชื่อ
  4. นายประกันยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักฐานต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้เลยครับ
  5. เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ตรวจคำร้องและหลักฐานเรียบร้อยแล้วจะลงบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐานแล้วนำเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้อง เมื่อผู้พิพากษาสั่งคำร้องแล้วจะส่งคำร้องขอประกันกลับคืนไปที่เจ้าหน้าที่ศาล
  6. เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะแจ้งคำสั่งของศาลให้นายประกันทราบ
  7. หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน นายประกันอาจต้องวางเงินประกันที่ศาลตามที่ศาลเห็นสมควร โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับหลักฐานการขอประกันและใบรับเงินให้
  8. เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันแล้ว ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศาลและยังไม่มีการออกหมายขังไว้เลย จะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกจากห้องควบคุมในศาลได้เลย ถ้าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ระหว่างถูกขังตามหมายศาล เจ้าหน้าที่จะนำหมายปล่อยไปปล่อย ณ ที่ถูกคุมขัง
  9. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว

10. หากศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ผู้ขอประกันขอรับหลักทรัพย์ที่ยื่นไว้คืนได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

11. กรณีที่ศาลไม่ให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว นายประกันสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังหรือจำเลยได้ โดยการขอประกันในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาได้ต่อไป

สุดท้าย ในคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากและผลกระทบวงกว้าง ซึ่งคดีนี้มีการกระทำเป็นขบวนการที่ส่งผลรุนแรงต่อสังคม ทำให้เป็นการยากที่จะได้รับการประกันตัว อีกทั้งการปฏิเสธการประกันยังเป็นไปตามหลักการของกฎหมายที่ศาลพิจารณาจากอัตราโทษ ความเสี่ยงต่อพยานหลักฐาน และความร้ายแรงของคดีได้ครับ

เนื้อหาโดย ทนายเกริก 

เรียบเรียงโดย ทนายแชมป์

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย