หมิ่นประมาทคืออะไร เสียค่าปรับเท่าไหร่

Defamation

สารบัญเนื้อหา

หมิ่นประมาท คือ

หมิ่นประมาทคือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม

ฟ้องหมิ่นประมาท

1. การแจ้งความให้ตำรวจมาดำเนินคดีได้เลย

ขั้นตอนนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่าย หลังจากแจ้งความแล้วตำรวจจะเรียกคู่กรณีมาทำการไกล่เกลี่ยที่สถานีตำรวจ
หากตกลงกันได้ก็จะจ่ายค่าเสียหายให้กัน ถ้าตกลงไม่ได้ก็ต้องรอฟ้องต่อศาลต่อไป ขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการดำเนินการของตำรวจ

2. จ้างทนายความฟ้อง

ส่วนนี้จะฟ้องได้ทั้งอาญาและเรียกค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินทางแพ่งได้ ทนายก็จะดำเนินการฟ้องต่อศาลได้ทันทีโดยที่ไม่ได้ต้องรอตำรวจดำเนินการ

3. แจ้งความต่อตำรวจและให้ทนายความยื่นฟ้องไปในช่วงเวลาเดียวกันได้

คือให้ตำรวจดำเนินการในส่วนของคดีอาญา และให้ทนายความรอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในการฟ้องคดีอาญา

กรณีนี้ทนายความจะได้ติดตามและประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการฟ้องเรียกเงินทางแพ่ง ให้ทนายทำเรื่องฟ้อง เรียกค่าเสียหาย ในการที่บุคคลนั้นโพสหมิ่นประมาทได้

คดีหมิ่นประมาท เสียค่าปรับเท่าไหร่

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เบื้องต้นถ้าคุณเรียกค่าเสียหายในชั้นตำรวจสอบสวนแล้วคู่กรณีไม่ตกลงด้วยก็จะว่าไปตามคดีอาญาและดำเนินการทางศาล ซึ่งมันอยู่ที่คุณจะพิสูจน์ว่าคุณเสียหายได้เท่าไหร่อย่างไร ถ้าคนที่ถูกหมิ่นประมาทเป็นคนที่มีชื่อเสียงหรือทำธุรกิจที่อาศัยความน่าเชื่อถือก็จะเรียกได้สูง

แต่สุดท้ายบอกได้แค่ว่าอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล และที่สำคัญการฟ้องร้องทางแพ่ง ต้องพิสูจน์เรื่องค่าเสียหายให้ได้หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลจะกำหนดให้พอประมาณ ดังนั้นศาลอาจให้จ่ายเพียง ๒ ถึง ๓ หมื่นบาทก็ได้

ข้อหาหมิ่นประมาท ทําให้เสียชื่อเสียง มาตรา

ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายไทยนั้นได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

คดีหมิ่นประมาทด้วยวาจา คือ

ดูหมิ่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย ทำให้เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า

ส่วนกรณีคำหยาบคายไม่สุภาพ คำแดกดัน คำสาปแช่ง คำขู่อาฆาต คำปรับทุกข์ คำโต้เถียง คำกล่าวติชม ตามปกติวิสัยไม่เป็นการดูหมิ่น และการดูหมิ่นนั้นอาจเป็นการกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือโฆษณาก็ได้

โดยการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 นั้น ต้องเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา ดังนี้

“การดูหมิ่นซึ่งหน้า” ต้องมีลักษณะของการเจตนาดูถูก เหยียดหยาม ทำให้อับอาย เสียหาย เป็นที่เกลียดชัง สบประมาท หรือด่า อันเป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึกของผู้อื่น อาจกระทำด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางก็ได้

โดยจะต้องมีการกล่าวหรือแสดงกิริยาท่าทางที่เป็นการดูหมิ่นให้ผู้อื่นทราบในขณะที่มีการกระทำในทันทีทันใด เช่น ด่าผู้อื่นว่า “ไอ้ตำรวจเฮงซวย” “ตอแหล” “ผู้หญิงชั่ว” “ไอ้หน้าโง่” เป็นต้น

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา คือ

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๘ กล่าวคือ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท ถ้าได้กระทำโดยการโฆษณาจะต้องมีโทษสูงกว่าการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดา การโฆษณาเป็นการแสดงออกถึงบุคคลที่ 3 เหมือนกันแต่ต้องเป็นการโฆษณา กล่าวคือ เป็นการเผยแพร่ออกไปยังประชาชนทั่วไปไม่จำกัดคนใดคนหนึ่ง การโฆษณากระทำได้หลายวิธีคือ

1. เอกสาร  หมายความว่า  โฆษณาด้วยกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฎความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการพิมพ์ ถ่ายภาพ เช่น เขียนบนกระดาษเขียนข้อความหมิ่นประมาทบนตัวสุนัข หรือบนกำแพงก็ถือว่าเป็นเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสีหรือ ภาพเขียน นั่นเอง

2. ภาพยนตร์ เช่น นำเรื่องชีวิตของนายดำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในลักษณะหมิ่นประมาทนายดำ

3. ตัวอักษร

4. แผ่นเสียง  เทป  วิทยุกระจายเสียง  โทรทัศน์

5. นอกจากนี้  อาจโฆษณาได้ด้วยภาพ ร้องเพลง เล่นละคร เป็นต้น

เนื้อหาโดย ทนายเกริก

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย

ใส่ความเห็น