กฎหมายแรงงาน ทำงานเกินเวลา คำถามที่พบบ่อย

กฎหมายแรงงาน
   การทำโอทีเป็นเรื่องที่มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ นายจ้างเองก็ไม่ได้อยากให้ลูกจ้างทำงานนานเพราะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม ลูกจ้างบางคนก็อยากรีบกลับบ้านมากกว่าได้ค่าจ้างเพิ่ม ลูกจ้างบางคนเน้นทำงานเก็บเงินเป็นหลักจะทำโอทีทุกวันยังไงก็ไหว วันนี้เรามาลองดูว่าการทำโอที มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจตามกฎหมายแรงงานบ้าง

สารบัญ

สิทธิตามกฎหมายแรงงาน มีอะไรบ้าง

ผมขอพามาดูสิทธิขั้นพื้นฐานของกฎหมายแรงงานกันก่อนที่จะพูดถึงโอที เพื่อที่จะได้เข้าใจภาพรวมกันก่อนผมจะยกแค่ส่วนที่สำคัญๆมาก่อนนะครับ
 
จำกัดเวลาทำงานและกำหนดเวลาพัก = การไม่ถูกใช้ทำงานหนักจนเกินไป
การลา = ลาป่วย ลากิจ ลาพัฒนาตนเอง ลาพักร้อน เป็นต้น
ค่าชดเชย = เงินตอบแทนเวลาเราทำงานทีหนึ่งมาเป็นเวลานานๆ แล้วถูกเลิกจ้างโดยที่เราไม่มีความผิด
ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า = เพื่อให้มีเวลาและมีเงินตั้งตัวระหว่างเปลี่ยนงาน
วันหยุด = ประจำสัปดาห์ ประจำปี
ค่าจ้าง = ทำงานต้องได้ค่าจ้างโดยที่ไม่สนใจผลลัพธ์แค่เอาตัวเองไปทำงานก็ได้ค่าจ้างแล้ว
ทำงานวันหยุดหรือนอกเวลา = ค่าจ้างเพิ่ม
 
กฎหมายแรงงานแม้จะมีหัวข้อในการคุ้มครองลูกจ้างมากมาย แต่ถ้าเราแกะออกมาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญพร้อมเข้าใจเหตุผลแล้ว จะเห็นได้นะครับว่ากฎหมายแรงงานนั้นมีความเข้าใจง่ายอยู่ในตัวเอง เพียงแต่เราจะเห็นด้วย หรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ในส่วนของโอที คือ การทำงานล่วงเวลาดังนั้นเราต้องดูลึกในหัวข้อ “วันและเวลาทำงาน” ตามกฎหมายแรงงานกันก่อน
 

วันและเวลาทำงาน ตามกฎหมายแรงงาน

เรื่องนี้คิดว่าน่าจะรู้กันทุกคน แต่ก่อนวิจารณ์กันไปใหญ่มาดู วันและเวลาทำงานตามกฎหมายแรงงานกันก่อนนะครับ

    กฎหมายไม่กำหนด “วันทำงาน” ให้แต่เป็นนายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันเอง โดยจะทำงานกัน 6 วันต่อสัปดาห์หรือแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ก็ได้ แต่จำนวนชั่วโมงจะมาเป็นตัวกำหนด โดยกฎหมายให้ทำงานต่อวันไม่เกิน 8 ชั่วโมงหรือต่อสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จึงดูสอดคล้องกับ 8-8-8 เลยใช่ไหมล่ะครับ
 
    สำหรับงานล่วงเวลา หรือ “โอที” ที่มาจากคำว่า Over Time นั่นคือ นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานต่อวันเกินกว่าเวลาทำงานปกติที่ตกลงกันไว้นั่นแหละครับ เช่น ตกลงเวลาทำงานไว้ 8 ชั่วโมงแต่ต้องการให้ทำงานต่ออีก เป็นชั่วโมงที่ 9 – 10 แบบนี้คือ ลูกจ้างจะได้ค่า OT อีก 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามกฎหมายก็กำหนดวันหยุดไว้ด้วยอย่างน้อย 1 วันก่อนถึงรอบสัปดาห์ใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าอย่างน้อยลูกจ้างก็ได้พักหนึ่งวัน
 
     ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตัวกฎหมายนั้นต้องการที่จะปกป้องสวัสดิภาพและสุขภาพของลูกจ้างไม่ให้ทำงานหนักมากจนเกินไป แต่หากมีความจำเป็นในส่วนของการงานที่ทำ ก็สามารถที่จะทำงานเพิ่มได้
 

ทำโอทีเกิน 36 ชั่วโมง ทำงานเกินเวลา ผิดกฎหมายหรือไม่

     การทำงานแม้ว่าจะได้เงินเพิ่มหากทำงานนอกเวลาก็ตามแต่กฎหมายก็กำหนดขีดจำกัดเพื่อไม่ให้ลูกจ้างนั้นจะต้องทำงานหนักจนเกินไปไว้อยู่ครับ
 
     ซึ่งการทำโอทีนั้นกฎหมายกำหนดว่าภายในหนึ่งสัปดาห์ไม่ให้ทำเกิน 36 ชั่วโมงโดยที่ไม่ได้จำกัดต่อวันครับว่าต่อวันไม่เกินเท่าไหร่ และที่สำคัญการทำงานล่วงเวลาหรือการทำโอทีนั้นลูกจ้างจะต้องยินยอมด้วย
 
หากนายจ้างมีพฤติการณ์การบังคับให้ลูกจ้างทำโอทีถือว่านายจ้างกระทำผิดกฎหมาย
เอาละเรื่องแบบนี้ไม่ถึงขนาดเป็นอาชญากรรมแต่มีบทลงโทษ ตามกฏหมายแรงงานแล้วหากนายจ้างกระทำผิดเรื่องโอทีนี้ อาจถูกจำคุกได้ไม่เกินหกเดือนและปรับไม่เกิน 100,000 บาท
 
นายจ้างทุกคนต้องระวังส่วนนี้ด้วยนะครับจำไว้ว่ากฎหมายแรงงานยืนอยู่ข้างลูกจ้างก่อนเสมอเพราะฉะนั้นท่านต้องรอบคอบกว่าลูกจ้างครับ
 
champ lawyer and associates

ลาออกไม่ได้แจ้งล่วงหน้า บริษัทไม่จ่ายเงินได้ไหม ต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน

อีกหนึ่งตัวอย่างที่คลาสสิกมาก ๆ เพราะด้วยความที่ลูกจ้างนั้นเคยชินกับการที่กฎหมายคุ้มครองมากกว่านายจ้าง ยกตัวอย่างเช่น การเลิกทำงาน หากเป็นนายจ้างต้องการให้ลูกจ้างเลิกทำงานจะต้องทั้งแจ้งล่วงหน้าทั้งให้เวลาเพียงพอและต้องจ่ายค่าจ้างค่านู่นนี่นั่นเยอะไปหมด แต่กลับการหักเป็นลูกจ้างแล้วแทบจะไม่มีบทบังคับอะไรที่คุ้มครองนายจ้าง
ซึ่งก็ต้องกลับมาดูกฎหมายทั่วไปครับว่าการที่เราลาออกไม่แจ้งล่วงหน้าเนี่ยนายจ้างเราเสียหายหรือเปล่าขอแยกเป็นสองกรณี
 
  1. ไม่ได้มีข้อตกลงที่จะต้องแจ้งล่วงหน้า การที่ไม่มีข้อตกลงต้องแจ้งล่วงหน้าโดยหลักการแล้วเราสามารถลาลาออกได้ทันทีเลยครับซึ่งงานประเภทนี้ก็มักจะเป็นงานที่นายจ้างหาคนแทนได้โดยง่าย และมักจะไม่เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่องาน ยังไงก็ตามครับหากระหว่างทำงานและลูกจ้างไปทำอะไรที่กำลังจะเสียหายแล้วและชิ่งหนีออกจากงานไปก่อนและนายจ้างต้องมารับผิดชอบจากการที่มีเวลาไม่เพียงพอจะแก้ไขปัญหานั้นนายจ้างก็สามารถเรียกค่าเสียหายกับลูกจ้างได้ครั[
  2. มีข้อตกลงที่ต้องให้แจ้งล่วงหน้า ความจริงแล้วสมัยนี้น่าจะเกือบทุกที่แล้วโดยเฉพาะงานออฟฟิศหรืองานที่ต้องเข้าไปทำงานในบริษัทนายจ้างนั้นจะต้องต้องการเวลาพอสมควรในการหาคนมาทำงานหรือถ่ายงานให้คนอื่นรับผิดชอบแทนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับงานของนายจ้าง
 
ดังนั้นแล้วลูกจ้างจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งล่วงหน้าตามข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่งั้นแล้วหากนายจ้างมีความเสียหายและพิสูจน์ได้ลูกจ้างก็ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้างด้วย
 
ปัญหาต่อไปคือ ต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วันถึงจะเหมาะสมและนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างได้ไหมถ้าลูกจ้าง ไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาและอาจจะขัดกับความเป็นจริงอยู่นะครับก็คือเรื่องการไม่จ่ายเงิน ใช่ครับนายจ้างหลายคนพอทราบแล้วว่าต่อให้ลูกจ้างจะทำตัวแย่ขนาดไหนแต่กฎหมายแรงงานก็คุ้มครองครับให้จ่ายค่าจ้างเราไม่สามารถจะหักค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากค่าจ้างได้เราจำเป็นต้องฟ้องคดีแยก
 
ปัจจุบันนายจ้างยังคงต้องทำใจอยู่นะ เพราะอาจรู้สึกว่ามันเป็นการผลักภาระให้นายจ้างเกินไป แทนที่จะหักลบและไม่เป็นคดีกลับต้องเสียเงินฟ้องร้องกลับค่าเสียหายที่อาจจำนวนไม่มาก และสุดท้ายครับต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน จากตัวอย่างที่ผมบอกข้างต้นนะครับว่าอาจจะมีกรณีที่มีข้อตกลงกันและไม่มีข้อตกลงกัน ขอบอกแบบนี้คำว่าอยู่ที่ค่าเสียหายเลยครับ ถ้าเกิดมีข้อตกลงกันว่าจะต้องแจ้งล่วงหน้าประมาณ 30 วันแล้วลูกจ้างแจ้งล่วงหน้าแล้ว
 
กรณีนี้ต่อให้เกิดความเสียหายขึ้นจากการที่นายจ้างไม่สามารถทำงานได้หรือไม่สามารถหาคนมาได้แบบนี้ ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรเลยเพราะถือว่าแจ้งล่วงหน้าตามที่ตกลงกันแล้ว
 
สำหรับกรณีที่นายจ้างกำหนดเวลาแจ้งล่วงหน้าที่นานเกินไปเช่น 1 ปีหรือ 6 เดือน หรือกรณีที่ไม่ได้กำหนดเวลาไว้และลูกจ้างลาออกกระทันหันกรณีแบบนี้นั้นนายจ้างจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างมากในการพิสูจน์ว่าตัวเองเสียหายอย่างไรครับ
 

การเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ถูกเลิกจ้าง สิทธิประโยชน์และค่าชดเชยอะไรที่ควรได้บ้าง

มาฝั่งลูกจ้างกันบ้าง ถ้าเกิดว่านายจ้างเลิกจ้างแบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้าไม่ให้ทันตั้งตัวเลยเนี่ยลูกจ้างจะได้อะไรบ้างมาดูกันครับ
 
อย่างแรกคือค่าบอกกล่าวล่วงหน้า กฎหมายมีจุดประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างครับให้รู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะตกงาน จะมีเงินใช้ในเดือนต่อไปหรือเปล่า
 
ดังนั้นนายจ้างมีความจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งงวดการจ่ายเงิน แต่คำว่าหนึ่งงวดการจ่ายเงินเนี่ยแหละครับสร้างปัญหามาหลายคดีแล้ว เอาง่ายง่ายแบบนี้แล้วกันนะคำว่า มนุษย์เงินเดือน เราไม่สามารถเลิกจ้างเขาในเดือนปัจจุบันที่เขากำลังจะได้เงินเดือนได้ เราต้องเลิกจ้างเขาในวันวันสุดท้ายของรอบการจ่ายเงินเดือนถัดไป
 
ตัวอย่างเช่น ตอนนี้อยู่กลางเดือนเมษายน เราต้องให้เค้าทำงานถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม และนับจากวันนี้ที่เราแจ้งเราต้องจ่ายเงินเดือนเขาสองรอบคือสิ้นเดือนเมษายนและสิ้นเดือนพฤษภาคม (กรณีวันเงินออกคือสิ้นเดือน)
 
แต่ถ้านายจ้างไม่ต้องการให้ลูกจ้างคนนี้ทำงานแล้ว สามารถจ่ายเงินเท่ากับจำนวนค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้ทำงานต่อ แทนก็ได้ครับ เพราะปกติบ้านเราเวลาถูกเลิกจ้างไปแล้วจะมีลูกจ้างกลุ่มที่พร้อมจะทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ นายจ้างเลยจ่าย จบ และเริ่มใหม่ดีกว่า
 
นอกจากนี้ นายจ้างยังต้องจ่ายค่าชดเชยต่อด้วยนะครับ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานมา (แต่ถ้าลูกจ้างทำผิดและมีเหตุตามกฎหมายนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเลยก็ได้) ส่วนอัตราค่าชดเชยดูตามรูปได้เลยครับ
 
นอกจากนี้แล้วค่าทำงานล่วงเวลาหรือ “โอที” ที่นายจ้างเลยให้ทำงานไว้และยังไม่ได้จ่ายทั้งหมด นายจ้างจะต้องย้อนดูให้ครบถ้วนและจ่ายในวันสุดท้ายของการทำงานนะครับ เพราะค่าทำงานแบบนี้ถ้าเราไม่จ่ายแล้วค่าปรับมันค่อนข้างสูง และการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลที่ลูกจ้างไม่ยอมทำโอที… นอกจากค่าชดเชยแล้วจะมีค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาด้วยนะครับ

สรุป

การทำโอทีสามารถทำได้แต่ลูกจ้างจะต้องยินยอมในการทำงานนั้นด้วย นายจ้างจะบังคับ ขู่เข็ญ ไม่ได้ และต่อสัปดาห์ไม่ให้ทำเกินกว่า 36 ชั่วโมงนะครับ (นับเฉพาะเวลาทำงานล่วงเวลา) ถ้านายจ้างฝ่าฝืนแล้วจะมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาเลย ทั้งนี้แล้วหากนายจ้างยังไม่แน่ใจในวิธีปฏิบัติและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลา ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย หรือเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานในไทยสามารถติดต่อพวกเราเพื่อให้คำปรึกษาได้ต่อไป

เนื้อหาและเรียบเรียงโดย ทนายแชมป์

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย

champ law firm