เมื่อต้องฟ้องลูกหนี้ด้วยตัวเอง หลายคนอาจจะกลัวกับสิ่งที่ต้องเจอ ฟ้องไปแล้วจะชนะหรือเปล่า ไม่มีทนายแล้วจะสู้อีกฝ่ายได้ไหม คำตอบคือได้
แต่ต้องเตรียมหลักฐานดังนี้
- แชทการพูดคุยตกลงกัน
- หนังสือสัญญา
- หลักฐานการส่งมอบ
- คลิปวิดีโอ
- หรือพยานวัตถุอื่นๆ ที่มีอยู่
ฟ้องลูกหนี้ด้วยตัวเองจะแพ้หรือชนะ ขึ้นอยู่กับพยานเอกสารและพยานวัตถุเป็นหลัก ส่วนพยานที่เป็นคนจะมีความสำคัญรองลงมา เมื่อเตรียมหลักฐานพร้อมแล้วเรียบเรียงใส่แบบฟอร์มของศาล แล้วยื่นศาลได้เลย
ฟ้องคดีแพ่งไม่มีทนายได้ด้วยตัวเอง
เพราะไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีทนายถึงจะใช้บริการที่ศาลได้
เพียงแต่ว่าในเรื่องของข้อกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินการต่างๆที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นชินทำให้ต้องมีทนายความช่วยดูแลในเรื่องของการดำเนินคดี
แต่ถ้าเราอยากดำเนินคดีด้วยตัวเองก็สามารถทำได้เหมือนกัน โดยเริ่มจากติดต่อศาลที่ลูกหนี้มีทะเบียนบ้านอยู่ เช็คจากเวปนี้ได้เลย https://pubdata.coj.go.th/jurisdiction/
ศาลนัดไกล่เกลี่ยแล้วไม่ไปได้หรือเปล่า
เมื่อศาลรับฟ้องแล้วจะมีการกำหนดวันนัดให้ทุกฝ่ายไปศาลตามวันเวลาที่นัดไว้ ครั้งแรกจะเป็นการไกล่เกลี่ยกันก่อน
วันนัดขึ้นศาลจะเป็นไปตามลำดับคดีของแต่ละศาล ศาลไหนมีคดีมากอาจต้องรอนาน ถ้าคดีน้อยก็รอไม่นาน อาจได้นัดแรกภายใน 1-2 เดือน หรืออาจรอถึง 4 เดือน
แต่หลายคนอาจยังกลัวการไปศาลด้วยตัวเอง ต้องบอกเลยว่าการขึ้นศาลไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว โดยเฉพาะคดีแพ่งที่จะมีการนัดไกล่เกลี่ยกันก่อน โดยจะมีคนกลางที่ไม่ใช่ผู้พิพากษาทำหน้าที่เป็นผู้ประนีประนอม เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายหาข้อตกลงกัน
ถ้าตกลงกันได้ตั้งแต่วันไกล่เกลี่ยในการขึ้นศาลครั้งแรกของคดีแพ่งก็จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตกลงจ่ายหนี้หรือค่าเสียที่เกิดขึ้นให้กัน
แล้วศาลจะดูว่าสัญญาประนียอมความที่ทำขึ้นขัดต่อกฎหมายไหม ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายก็จะมีการพิพากษารับรองสัญญาดังกล่าวให้ เรียกว่า “พิพากษาตามยอม” เป็นอันเสร็จคดีที่เร็วที่สุดแล้ว
คดีเล็กขึ้นศาลด้วยตัวเอง
สำหรับคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท จะจัดเป็นคดีมโนสาเร่ เป็นคดีที่ไม่ค่อยมีข้อยุ่งยาก จึงมีข้อกำหนดให้ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานต่างๆ ได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลมากนัก
และในการสืบหาความจริง ศาลจะมีอำนาจในการถามก่อนที่จะให้ฝ่ายตรงข้ามหรือทนายความถามเพิ่มเติม รวมถึงมีอำนาจถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคดีในส่วนที่ไม่มีฝ่ายไหนยกขึ้นอ้างได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 193 จัตวา
ค่าใช้จ่ายฟ้องคดีแพ่งด้วยตนเอง
การดำเนินคดีจะมี ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ต้องการฟ้องเรียกมา เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ค่านำหมาย ค่าเดินทางและค่าที่พักของพยาน
- ทุนทรัพย์ที่ฟ้องไม่เกิน 300,000 บาท ค่าธรรมเนียมศาลไม่เกิน 1,000 บาท
- ทุนทรัพย์ที่ฟ้องไม่เกิน 50 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2 บาท (หรือ 2%) แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ร้อยละ 0.1 (หรือ 0.1%)
แต่ไม่ต้องห่วง เพราะถ้าเราชนะคดีค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้อีกฝ่ายต้องจ่ายคืนเราอยู่แล้ว
การฟ้องคดีด้วยตนเอง
กรณีนี้จะยกตัวอย่างเรื่องการฟ้องตามสัญญากู้ยืม ให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบเขตอำนาจศาล (มี 2 ศาล)
– ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านของลูกหนี้ (เช็คศาลได้ที่ https://pubdata.coj.go.th/jurisdiction/ )
– ตามที่มูลคดีเรื่องกู้ยืมเกิดขึ้น หมายถึง กู้ยืมกันที่เขตไหน อำนาจศาลก็เกิดที่เขตนั้นด้วย - นำสัญญากู้ไปติดอากรแสตมป์ และถ่ายเอกสาร 3 ชุด
- นำสำเนาสัญญากู้ที่จะฟ้องไปอำเภอหรือเขตใดก็ได้ เพื่อไปคัดสำเนาทะเบียนบ้านของลูกหนี้
- จากนั้นนำเอกสารดังนี้ไปศาลในเขตอำนาจตามภูมิลำเนาจำเลย หรือ ตามที่ทำสัญญากู้กันก็ได้
– สำเนาเงินกู้ 2 ชุด
– ทะเบียนบ้านของลูกหนี้ที่ไปคัดมานั้น - แจ้งกับเจ้าหน้าที่ศาลว่า ขอฟ้องคดีด้วยวาจา
- ให้ส่งเอกสารที่เตรียมมานั้นให้กับเจ้าหน้าที่ 2 ชุด เจ้าหน้าที่จะออกหมายเลขคดีดำให้ ต้องจดจำหมายเลขคดีดำนี้ไว้ จากนั้นก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า ขอเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระจนครบด้วย
- ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมศาลร้อยละ 2 โดยเสียเริ่มตั้งแต่ 200-1,000 บาท และเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่ลูกหนี้
- ดูกำหนดวันนัดของศาลตามที่คุณว่าง
- พอถึงวันนัดของศาลตามที่คุณกำหนด ให้ดูหมายเลขคดีดำที่รับฟ้องคดีไว้ จากนั้นก็ขึ้นไปที่ห้องหมายเลขนั้นระบุไว้ แล้วก็เข้าไปในห้องพิจารณาคดี แจ้งกับเจ้าหน้าที่ในห้องว่า มาคดีอะไร หมายเลขคดีดำอะไร
- การเบิกความตอบคำถามศาล เบิกความไปตามจริง หากจบในวันนั้นได้ ศาลก็จะพิพากษาเลย แต่ต้องรอศาลออกคำสั่งเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
สรุป
เราสามารถฟ้องลูกหนี้ต่อศาลเองได้ไม่ต้องพึ่งทนายความ ถ้าเอาสะดวกก็ยื่นฟ้องแบบออนไลน์ได้ที่ https://efiling3.coj.go.th/citizen/ หรือยื่นฟ้องด้วยวาจาที่ศาลก็ได้ ถ้าเรียกร้องไม่เกิน 300,000 บาท
อย่างไรก็ดีหากว่าไม่แน่ใจในเรื่องของกฎหมายก็ยังคงแนะนำให้สอบถามทนายความดูก่อนดำเนินการ จะดีที่สุด
ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดที่ดินใดๆมาเป็นหลักฐานในใบสัญญากู้ยืมเงินเจ้าหนี้สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้หรือไม่และเจ้าหนี้ต้องการแค่เงินต้นคืนไม่ต้องการดอกเบี้ยเลยแม้สักบาทเดียว