กฎหมายคือ กฎเกณฑ์ กติกา หรือ มาตรฐานที่ใช้เป็นแนวทางพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติตาม โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากบุคคลอื่น ด้วยเหตุที่กฎหมายมีสภาพบังคับ ทำให้สมาชิกในสังคมทุกคนจะต้องรู้กฎหมาย ใครจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สารบัญเนื้อหา
กฎหมายคือ
กฎหมายมีอะไรบ้าง
กฎหมายมีกี่ประเภท
ลำดับศักดิ์กฎหมาย
กฎหมายคือ
ความหมายของคำว่า “กฎหมาย” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นั้น หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ
กฎหมายมีอะไรบ้าง
สามารถจำแนกลักษณะของกฎหมายได้ 4 ประการ คือ
1. กฎหมายต้องมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์
หมายความว่า กฎหมายต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือทำไม่ได้
2. กฎหมายต้องกำหนดความประพฤติของบุคคล
ความประพฤติในที่นี้ ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้การควบคุมของจิตใจ ซึ่งความประพฤติของมนุษย์ที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนั้น ต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ ต้องมีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย และต้องกระทำภายใต้การควบคุมของจิตใจ
3. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ กฎหมายจะมีสภาพบังคับเพื่อให้มนุษย์จำต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น โดยสภาพบังคับของกฎหมายมีทั้งสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายและสภาพบังคับที่เป็นผลดี
4. กฎหมายต้องมีกระบวนการที่แน่นอน
เนื่องจากปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายต้องกระทำโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ เป็นต้น การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องมีกระบวนการที่แน่นอน
กฎหมายมีกี่ประเภท
แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ คือ
1. แบ่งตามระบบกฎหมาย
ระบบกฎหมายที่ใช้กันในปัจจุบันมีอยู่ 2 ระบบ
1.1 กฎหมายลายลักษณ์อักษร ( Statutory Law ) คือ กฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ข้อกฎหมายไว้ชัดเจนแน่นอน โดยบันทึกเป็นประโยคข้อความเกี่ยวกับหลักกฎหมายในแต่ละเรื่อง โดยกฎหมายลายลักษณ์อักษรมีหลายรูปแบบ เช่น ประมวลกฎหมาย, พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
1.2 กฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ กฎหมายจารีตประเพณี ( Customary Law ) คือ กฎหมายที่ใช้คำอธิบายด้วยเหตุและผลในคำตัดสินของศาล ที่ตัดสินคดีที่เกิดขึ้นครั้งแรกมาเป็นหลักกฎหมาย โดยนำจารีตประเพณีมาเป็นเหตุผลในการพิจารณาเป็นส่วนใหญ่
2. แบ่งตามลักษณะการใช้กฎหมาย
แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
2.1 กฎหมายสารบัญญัติ ( Substantive Law ) คือ กฎมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมถึงการกระทำที่กฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด กฎหมายสารบัญญัติ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
2.2 กฎหมายวิธีสบัญญัติ ( Procedural Law ) คือ กฎหมายที่ว่าด้วยวิธีปฎิบัติ โดยนำกฎหมายสารบัญญัติมาใช้จะต้องเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการมาใช้ด้วย ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
3.แบ่งตามเนื้อหาของกฎหมาย
สามารถแบ่งกฎหมายออกเป็น 2 ประเภท
3.1 กฎหมายมหาชน ( Public Law ) คือ กฎหมายที่กำหนดถึงฐานะและอำนาจหน้าที่ของรัฐและพลเมืองของรัฐ หรือความเกี่ยวข้องระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับพลเมือง ได้แก่ กฎหมายอาญา, กฎหมายปกครอง, กฎหมายระหว่างประเทศ
3.2 กฎหมายเอกชน ( Private Law ) คือ กฎหมายที่กำหนดฐานะของบุคคลหรือนิติบุคคล และวางระเบียบในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคลด้วยกัน ได้แก่ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
ผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายที่มีศักดิ์ด้อยกว่าต้องเคารพกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า โดยลำดับศักดิ์ของกฎหมายแบ่งได้ 7 อย่าง ดังนี้
- รัฐธรรมนูญ
- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
- พระราชบัญญัติ
- พระราชกำหนด
- พระราชกฤษฎีกา
- กฎกระทรวง
- ข้อบัญญัติท้องถิ่น
สอบถามเพิ่มเติม
ติดต่อทนาย
ส่งเมล์
info@champ-lawfirm.com
โทร
065 6060622
แชทไลน์
ID: @champlawfirm
สำนักงาน
47/86 Pattaya Klang Rd.