การตั้งผู้จัดการมรดก ไม่ใช่เรื่องยาก แค่มีเอกสารครบก็ขอเป็นผู้จัดการมรดกได้แล้ว (อ่านบทความการตั้งผู้จัดการมรดก คลิกที่นี่) ปัญหามันอยู่ที่หลังจากเป็นผู้จัดการมรดกแล้วไม่ยอมทำหน้าที่อย่างสุจริต ทั้งยักยอก โกงมรดก โกงญาติพี่น้องตัวเอง แล้วแบบนี้ทายาทคนอื่นจะทำอะไรได้บ้าง
ความจริงแล้วทำได้หลายอย่างเลยครับไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีแพ่ง คอีอาญา มากมาย แต่วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังขั้นตอนหนึ่งที่เอาไว้ “หยุด” พวกผู้จัดการมรดกจอมขี้โกง ไม่ให้โกงเราไปมากกว่านี้ คือ การถอนผู้จัดการมรดก
สารบัญเนื้อหา
- เหตุผลในการถอนผู้จัดการมรดก
- ผู้จัดการมรดกไม่ทำหน้าที่
- ผู้จัดการมรดกโกง หรือมีเหตุอย่างอื่นอันสมควร
- ใครถอนผู้จัดการมรดกได้บ้าง?
- ถอนแล้วเราเป็นผู้จัดการมรดกเองได้ไหม?
- ต้องถอนผู้จัดการมรดกตอนไหน?
เหตุผลในการถอนผู้จัดการมรดก
กฎหมายเรากำหนดวิธีการเป็นผู้จัดการมรดกไว้ เพื่อให้ “บริการ” ทายาทแต่ละคนครับ ไม่ใช่การเอาทรัพย์สินไปเป็นของตัวเองหรือมาเอาเปรียบทายาทคนอื่น กฎหมายเรามองว่า ผู้จัดการมรดกเป็นกำแหน่ง “ตัวแทนเท่านั้น”
เพราะฉะนั้นแล้วก็ต้องสามารถเปลี่ยนหรือถอนได้ เพียงแต่กฎหมายให้มาทำเรื่องการถอนที่ศาลครับ เพื่อให้มีคำสั่งที่ชัดเจนต่อไป โดยกฎหมายกำหนดสาเหตุในการถอนไว้ตาม มาตรา 1727 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไว้ว่า
ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุอันสมควรก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
จากกฎหมายเรื่องนี้ได้เรื่องว่า ถ้า ละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือ มีเหตุอย่างอื่นที่สมควร เราก็เดินเรื่องถอนผู้จัดการมรดกให้พ้นจากหน้าที่และตำแหน่งได้นั่นเอง
ผู้จัดการมรดกไม่ทำตามหน้าที่
ถูกต้องครับเหตุผลแรกถ้าเราต้องการถอนผู้จัดการมรดก เราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าเขาทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามปกติที่ควรจะเป็นหรือไม่ เช่น ไม่ยอมไปดำเนินการถอนเงินจากธนาคารมาแบ่งกับทายาท ไม่ดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้มรดกเพื่อเอาเงินมาแบ่งกับทายาท ไม่ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดก เป็นต้น
นอกจากพวกหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้แล้ว ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่เป็น “ตัวแทน” ของทายาททุกคนดังนั้นจึงต้องเอาหลักเรื่องตัวการตัวแทนมาพิจารณาด้วยเช่นถ้าทายาทสั่งให้ไปถอนเงินแต่ผู้จัดการมรดกไม่ไปโดยไม่มีเหตุผลสมควรก็ร้องศาลขอถอนตำแหน่งได้เป็นต้น
ผู้จัดการมรดกโกง หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควร
ในส่วนนี้กฎหมายเปิดช่องให้ผู้พิพากษาหรือศาล พิจารณาตามเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆว่าพอเหตุการณ์เป็นแบบนี้เขาสมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกอีกหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเรื่องการทุจริตไม่ดำเนินการแบบซื่อตรงต่อทายาท มีพฤการณ์ผิดกฎหมายอาญา ซึ่งศาลต้องมองว่าหากให้เป็นผู้จัดการมรดกต่อไปแล้วเนี่ย จะทำให้เกิดความเสียหายต่อทายาทอย่างแน่ๆ
ข้อนี้เป็นการให้ศาลตีความออกได้อย่างกว้าง ดังนั้นแล้วถ้าเราไม่แน่ใจว่าจะหาเหตุผลอะไรมาถอนผู้จัดการมรดกคนนี้ ลองโยงเข้าเงื่อนไขนี้ดูนะครับ “มีเหตุอันสมควรให้ถอนถอด” จัดไปเลยครับผม
ใครถอนผู้จัดการมรดก ได้บ้าง?
ต่อให้ผู้จัดการมรดกคนนี้จะทำเรื่องไม่ดีไว้ขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ใครก็ได้นะครับที่จะไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลให้ถอนออก กฎหมายบังคับว่าจะต้องเป็น “ผู้มีส่วนได้เสีย” เท่านั้น
ซึ่งได้แก่ใครบ้าง กฎหมายไม่ได้ระบุเป็นตัวคนหรือตำแหน่งเอาไว้ เพียงแต่ระบุไว้กว้างๆว่าเราต้องมีส่วนได้เสีย เช่น เราเป็นทายาทที่ควรได้มรดกคนหนึ่ง , เราเป็นคนที่พินัยกรรมบอกว่ามีส่วนร่วมในมรดกด้วย , เราเป็นเจ้าหนี้ที่รอบังคับให้จ่ายหนี้เราอยู่ และอื่นๆ
พูดง่ายๆได้ว่าการที่ผู้จัดการมรดกทำหน้าที่ไม่มดีละเลยไม่ทำงานหรือทุจริตทำให้เราได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมรดกกองนั้นเราก็มีสิทธิไปศาลขอถอนให้คนนี้หลุดจากอำนาจหน้าที่ซะเลย
ถอนแล้วเราขอเป็นผู้จัดการมรดกเองได้ไหม?
ถูกต้องแล้วครับ ปกติแล้วเวลายื่นขอถอนผู้จัดการมรดกมักจะยื่นขอให้ตัวเองหรือคนอื่นเป็นผู้จัดการมรดกแทนต่อไปเลย ไม่อย่างนั้นแล้วสถานะผู้จัดการมรดกก็จะว่างจะทำให้ไม่มีใครไปดำเนินการแบ่งสรรปันส่วน แจกจ่ายตามหนี้ที่เกี่ยวกับกองมรดกหรือบริการให้กับทายาททุกคน
ต้องถอนผู้จัดการมรดกตอนไหน?
การถอนผู้จัดการมรดกนั้น ไม่ได้มีอายุความบังคับแบบตายตัวว่าต้องกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ให้จำไว้ว่า “ถอนก่อนเขาทำงานเสร็จ” เพราะถ้ามีการทำงานเสร็จแล้ว = แบ่งมรดกเสร็จสิ้น หน้าที่และตำแหน่งของผู้จัดการมรดกก็จะหายไปแบบอัตโนมัติ
เพราะฉะนั้นถ้าจะอยากเอาเรื่องผู้จัดการมรดกจอมขี้โกงหรือขี้เกียจแล้วล่ะก็ ให้พิจารณาดูก่อนนะครับว่า เขาดำเนินการโอนหรือแบ่งมรดกเสร็จหรือยัง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนตายมีทรัพย์อยู่ 10 ชิ้นผู้จัดการมรดกโอนออกไปหมดแล้ว แบบนี้ถือว่าหมดหน้าที่แล้วครับ
สรุป
ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าการถอนผู้จัดการมรดก ไม่เกี่ยวกับการยักยอกหรือโกงทรัพย์มรดก ในเรื่องนี้เราก็ต้องไปดำเนินคดีแยกส่วนกันไป หรือแม้กระทั่งการแบ่งทรัพย์มรดกไม่ถูกต้อง เราก็ต้องไปฟ้องเรียกคืนในส่วนของเราให้ครบกับคนที่เกี่ยวข้องกันไปจ้า
แต่ถ้าเรารู้ว่าผู้จัดการมรดกยังดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกไม่เสร็จ เขายังไม่ได้ไปถอนเงินหรือไปโอน ก็เป็นโอกาสที่เราจะไปถอนเขาเพื่อไม่ให้ความเสียหายมันบานปลายไปมากกว่านี้
สอบถามเพิ่มเติม
ติดต่อทนาย
ส่งเมล์
info@champ-lawfirm.com
โทร
065 6060622
แชทไลน์
ID: @champlawfirm
สำนักงาน
47/86 Pattaya Klang Rd.