พรากผู้เยาว์ คืออะไร มีโทษยังไง

Child abduction

คดีพรากผู้เยาว์เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย ยิ่งสมัยนี้ที่น้องๆ เยาวชนมีโตไวและมีคนรักกันง่ายขึ้น ทำให้เกิดการกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์อยู่เสมอ

วันนี้ผมอยากมาคุยรายละเอียดเรื่องนี้กัน เผื่อว่าใครกำลังคบหาดูใจกับน้องที่อายุน้องกว่า 18 ปี จะได้ระมัดระวังตัวไว้

สารบัญ

ความหมายของการพรากผู้เยาว์ตามกฎหมาย

การพรากผู้เยาว์ตามกฎหมายของประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ และความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสิทธิของเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

กฎหมายระบุว่า “การพรากผู้เยาว์” หมายถึงการนำเด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกจากการดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลที่มีอำนาจดังกล่าว

ไม่ว่าจะเป็นการพรากด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่น การลักพาตัว การล่อลวง การชักจูง หรือการใช้กำลังบังคับ เพื่อให้เด็กออกจากความควบคุมของผู้ปกครอง

พูดง่ายๆ ว่าเรื่องนี้ คนเสียหายคือ “ผู้ปกครอง”

ไม่ใช้กฎหมายที่เน้นคุ้มครองแต่ตัวเด็กและเยาวชนเท่านั้น เหมือนกับเราไปขโมยของคนอื่นนั่นแหละครับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพรากผู้เยาว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิของเด็กและเยาวชน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือจิตใจของผู้เยาว์

การพรากผู้เยาว์จึงถือว่าเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรง โดยกฎหมายไทยจะให้ความสำคัญกับเด็กเป็นพิเศษ

เนื่องจากเด็กยังไม่มีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตนเอง และจำเป็นต้องได้รับการปกป้องดูแลจากผู้ใหญ่

ในบางกรณี การพรากผู้เยาว์อาจเกิดขึ้นด้วยเจตนาหรือไม่เจตนา แต่หากการกระทำดังกล่าวนำไปสู่การทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากการดูแลของผู้ปกครองอย่างผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด เช่น การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การข่มขู่ หรือการกระทำทางเพศ ก็จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

การพรากผู้เยาว์นี้ครอบคลุมทั้งการกระทำโดยใช้กำลังบังคับ หรือการล่อลวงโดยใช้วิธีการอื่นๆ เช่น การให้สิ่งของหรือผลประโยชน์เพื่อหลอกล่อผู้เยาว์ให้ไปกับผู้กระทำความผิด

บทลงโทษสำหรับผู้กระทำการพรากผู้เยาว์

บทลงโทษสำหรับการพรากผู้เยาว์นั้นจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุของผู้เยาว์ที่ถูกพรากไปและเจตนาของผู้กระทำผิด รวมถึงลักษณะของการกระทำผิดที่เกิดขึ้นตาม

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

ระบุว่า หากผู้ใดพรากผู้เยาว์ที่มีอายุไม่เกิน 15 ปีไปจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ที่มีอำนาจปกครองโดยมิชอบ

ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาทถึง 300,000 บาท

โดยโทษจะมีความรุนแรงขึ้น ถ้าหากมีการทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่5 ปีถึง 20 ปีและปรับตั้งแต่ 100,000 บาทถึง 400,000 บาท

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318

หากผู้เยาว์ที่ถูกพรากไปนั้นมีอายุ 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี ผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาทถึง 200,000 บาท

และโทษจะมีความรุนแรงขึ้นถ้าหากมีการทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่3 ปีถึง 15 ปีและปรับตั้งแต่ 60,000 บาทถึง 300,000 บาท

นอกจากบทลงโทษทางอาญาแล้ว ผู้กระทำผิดอาจต้องรับผิดทางแพ่งในการชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เยาว์ หรือครอบครัวของผู้เยาว์เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายจากการถูกละเมิดทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงค่าชดเชยอื่นๆ ที่ศาลเห็นสมควร

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการพรากผู้เยาว์

การพรากผู้เยาว์เป็นความผิดอาญาที่มีบทลงโทษร้ายแรง ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทำที่อาจถูกตีความว่าเป็นการพรากผู้เยาว์โดยไม่ได้ตั้งใจ

ซึ่งรวมถึงการกระทำที่ทำไปด้วยเจตนาดี เช่น การช่วยเหลือเด็กที่ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง หากไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายอย่างถูกต้อง อาจถือเป็นการกระทำผิดได้

ข้อควรระวังหลักได้แก่

  • หากไม่ใช่บิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ไม่ควรนำผู้เยาว์ไปจากสถานที่ใดๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เว้นแต่มีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ หรือเป็นกรณีฉุกเฉินที่ต้องการช่วยเหลือผู้เยาว์ที่อยู่ในสถานการณ์อันตราย
  • หากพบเด็กที่ถูกทิ้งหรือผู้เยาว์ที่ดูเหมือนอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่ออันตราย การนำเด็กไปโดยไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้ผู้ช่วยเหลือถูกตั้งข้อกล่าวหาเรื่องการพรากผู้เยาว์ได้
  • การให้คำปรึกษาแก่ผู้เยาว์ ควรอยู่ในกรอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากมีกรณีที่ต้องการคุ้มครองหรือให้ความช่วยเหลือ ควรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทนการดำเนินการด้วยตนเอง

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพรากผู้เยาว์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพรากผู้เยาว์ในประเทศไทย คือ

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 และ 318

ซึ่งระบุถึงลักษณะของการพรากผู้เยาว์และบทลงโทษที่กำหนดขึ้นสำหรับการกระทำดังกล่าว นอกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชน เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317

กล่าวถึงการพรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีจากผู้ปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

หากผู้เยาว์มีอายุระหว่าง 15-18 ปี จะมีโทษอยู่ใน มาตรา 318 เป็นมาตราที่บทลงโทษสำหรับกรณีที่ผู้กระทำการพรากผู้เยาว์อายุ15-18ปีและโทษจะเบากว่ามาตรา317

แต่ว่าถ้าหากมีเจตนาแสวงหาผลประโยชน์หรือมีการกระทำที่ผิดกฎหมายต่อผู้เยาว์ เช่น การค้าประเวณี การบังคับใช้แรงงาน หรือการกระทำความผิดทางเพศ

นอกจากนี้กฎหมายยังครอบคลุมถึง กรณีที่ผู้เยาว์ถูกพรากไปเพื่อการค้ามนุษย์ กรณีเหล่านี้จะทำให้โทษตามมาตรา 317 และ 318 หนักขึ้นไปอีก

กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เน้นการคุ้มครองเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปี ให้ได้รับการดูแลจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย

และมีมาตรการคุ้มครองหากเด็กถูกล่วงละเมิด หรือได้รับอันตราย รวมถึงการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองในการดูแลเด็ก ให้ได้รับความปลอดภัยและได้รับการศึกษาที่เหมาะสม

การแจ้งความ และการดำเนินคดีในกรณีพรากผู้เยาว์

เมื่อเกิดกรณีการพรากผู้เยาว์ ผู้ปกครองหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. การแจ้งความ
    เมื่อพบว่าผู้เยาว์ถูกพรากไปจากการดูแลของผู้ปกครอง ผู้ปกครองสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยให้ข้อมูลที่สำคัญ เช่น อายุและรายละเอียดของผู้เยาว์รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อมูลนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการสอบสวนได้อย่างรวดเร็ว
  2. การสอบสวน
    ตำรวจจะทำการสอบสวนเหตุการณ์โดยการเก็บหลักฐาน และสอบถามพยานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  3. การออกหมายจับ
    หากพบว่ามีผู้กระทำความผิด ตำรวจจะออกหมายจับเพื่อนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี
  4. การฟ้องร้อง
    เมื่อมีการจับกุมผู้กระทำผิด อัยการจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นตอนนี้จะช่วยให้ผู้เยาว์ได้รับการช่วยเหลือและปกป้องตามสิทธิ์ที่พึงมี

คดีลักษณะนี้ ถ้าสุดท้ายมีหลักฐานว่าผู้เยาว์ไปอยู่กับเราจริงๆแล้ว สู้ยากเลยแหละครับ

เพราะถ้าไม่ชวนมา เด็กจะมาหาเองได้อย่างไร

แต่กลับกันครับ ถ้าเป็นกรณีที่เราไม่ได้มีเจตนาหรือชักชวนผู้เยาว์ไปอยู่ด้วย เราต้องรีบปฏิเสธ หรือหาหลักฐานเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด ไม่งั้นแล้วอาจติดคุกติดตารางได้เลยนะครับ

ยังไงก็คบหาใครดูไว้ด้วยนะครับว่าอายุเกิน 18 ปีหรือยัง….

เนื้อหา / เรียบเรียง โดยนายกวี

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย