ผู้จัดการมรดก คือใคร มีอายุกี่ปี ทำหน้าที่อะไร

บริการจัดตั้งผู้จัดการมรดก

หลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่า “ผู้จัดการมรดก” กันมาบ้าง แต่อาจยังไม่รู้ บทบาทหน้าที่ วิธีการจัดตั้ง ซึ่งบทความนี้จะทำให้ทุกท่านได้รู้จักคำว่า ผู้จัดการมรดก มากขึ้นกันครับ 

ผู้จัดการมรดก คือ ใคร

ผู้จัดการมรดก คือ ตัวแทนของทายาทที่มีอำนาจหน้าที่ในการ จำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์มรดกให้กับทายาททุกๆ คน อย่างถูกต้องโดยกฎหมาย

มีฐานะเป็นตัวแทนของทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกทุกคน ซึ่งผู้จัดการมรดกไม่ใช่ฐานะที่เป็นได้ด้วยตนเองหรือตกลงกันในครอบครัวเท่านั้น เพราะจะต้องได้รับคำสั่งศาลอนุญาตให้เป็นผู้จัดการมดรกเสียก่อน

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีพินัยกรรมหรือไม่มีพินัยกรรมก็ต้องมีผู้จัดการมรดกเหมือนกัน หลังจากได้คำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้จัดการมรดกจะสามารถไปถอนเงินในบัญชี โอนทรัพย์สิน มรดกได้

ทำไมต้องมีผู้จัดการมรดก 

ในความเป็นจริงเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคนที่มาถอนเงินหรือขอรับทรัพย์สินเป็นคนที่มีสิทธิได้รับมรดกจริงๆจากคนตายหรือเปล่า หากว่าธนาคารได้อนุญาตให้คนที่มาติดต่อถอนเงินไปง่ายๆหรือสำนักงานที่ดินให้โอนทรัพย์สินไปให้เขาเลย ทายาทที่แท้จริงมาติดต่อทีหลังก็จะเป็นปัญหาอย่างมาก

ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดเรื่องของผู้จัดการมรดกไว้ให้มีอำนาจหน้าที่ติดต่อหน่วยงานราชการหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันต่อหน่วยงานนั้นๆว่าเรามีอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจึงสามารถถอนเงินหรือรับโอนทรัพย์สินได้ 

     แม้ในความจริงผู้จัดการมรดกจะโกงทายาทอยู่หลายครอบครัวก็ตามแต่การที่ศาลได้เข้ามามีบทบาทในการคัดกรองและออกคำสั่งก็เป็นการคัดกรองไปได้มากทีเดียว

วิธีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก 

1. ขอรับมรณะบัตรผู้ตาย 

2. ตกลงกับทายาทว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก 

3. ให้ทายาทเซนต์หนังสือให้ความยินยอมว่าให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก

4. ติดต่อทนายความหรือพนักงานอัยการ 

5. ทนายความ หรือ พนักงานอัยการ จะช่วยรวบรวมเอกสารที่จำเป็นในการยื่นต่อศาล ซึ่งแต่ละคดีจะมีความากน้อยไม่เท่ากัน เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ ใบสำคัญการสมรส ใบทะเบียนการหย่า ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาและจัดเตรียมกับทนายความ 

6. ยื่นคำร้องต่อศาล โดยทนายความหรือพนักงานอัยการ 

7. ไปศาลเพื่อไต่สวนคำร้อง ยื่นหลักฐานโดยผู้พิพากษาจะตรวจเอกสารและดูความถูกต้องต่างๆ 

8. รอคดีถึงที่สุดและขอถ่ายเอกสารคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก 

     เท่านี้ก็เสร็จสิ้นการจัดตั้งผู้จัดการมรดกเมื่อได้รับคำสั่งจากศาลแล้วก็นำไปยื่นขอถอนเงินรับโอนทรัพย์สินหรือติดต่อราชการได้

ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่อะไร

หน้าที่หลักคือการเป็นตัวแทนของทายาทที่มีสิทธิรับมรดก ไปติดต่อขอรับทรัพย์มรดกจากหน่วยงานที่ถือครองไว้และนำออกมาแจกจ่ายให้กับทายาท

การนำมาแจกจ่ายหรือแบ่งระหว่างทายาทก็ต้องแบ่งตามกฎหมายหรือตามที่ทายาทตกลงกันเท่านั้น

ไม่ใช่แบ่งตามใจของผู้จัดการมรดกซึ่งหากผู้จัดการมรดกมีการทุจริตเรื่องนี้จะมีโทษทางอาญาติดคุกได้เลย 

หน้าที่อื่นๆเช่นการจัดทำบัญชีทรัพย์สินยื่นต่อศาลการติดต่อหน่วยงานราชการเป็นธุระแทนทายาทคนอื่นเป็นต้นและหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือซื่อสัตย์ต่อทายาททุกคน

ผู้จัดการมรดกมีได้กี่คน 

ปกติแล้วผู้จัดการมรดกจะตั้งกันแค่คนเดียว เพื่อความสะดวกในการดำเนินการต่างๆ

มิเช่นนั้นจะต้องไปด้วยกันหมดทุกคนก็จะขัดต่อหลักการเป็นตัวแทนและความสะดวกของทายาทคนอื่นๆ

อย่างไรก็ดีบางกรณีที่ทายาทไม่สามารถตกลงปลงใจให้ใครคนเดียวเป็นผู้จัดการมรดกได้ศาลก็สั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันเพื่อความสบายใจและความโปร่งใสต่อครอบครัว

ผู้จัดการมรดก มีอายุกี่ปี 

ฐานะผู้จัดการมรดกจะเสร็จสิ้นเมื่อมีการแบ่งทรัพย์มรดกกันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจะเป็นระยะเวลาเพียง 7 วันหรือเป็นปีๆ ก็ได้

เนื่องจากปกติแล้วทรัพย์มรดกจะปรากฎต่อลูกหลานว่าคนตายมีมรดกอะไรบ้าง ดังนั้นจะไม่เป็นเวลานานในการจัดสรรปันส่วนให้กับทายาท เมื่อแบ่งทรัพย์สินเสร็จแล้วผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สิน ยื่นต่อศาลว่าได้แบ่งอะไรให้ใครไปบ้าง (ในทางปฏิบัติไม่ทำกันเลย)

และแบ่งเสร็จแล้วก็ไม่ต้องมีทำเรื่องที่ศาลเพื่อให้ศาลยกเลิกฐานะผู้จัดการมรดกนะครับ ฐานะนี้จะสิ้นสุดไปในตัวเองเมื่อโอนทรัพย์สินเรียบร้อย

ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม 

ไม่ว่าจะมีพินัยกรรมหรือไม่มีพินัยกรรมล้วนแต่ต้องมาร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทั้งนั้น

ทั้งนี้พินัยกรรมบางฉบับผู้ตายจะกำหนดตัวผู้จัดการมรดกไว้เลย (ระบุชัดในพินัยกรรม) คนๆนั้นก็จะต้องเป็นผู้จัดการมรดก จะตั้งคนอื่นเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

เว้นแต่คนนั้นขอปฏิเสธหรือไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

ผู้จัดการมรดกจะต้อง

  • บรรลุนิติภาวะ
  • ไม่เป็นคนวิกลจริต
  • ไม่เป็นคนล้มละลาย
  • ไม่เคยถูกศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

สรุป 

การตั้งผู้จัดการมรดกมีความสำคัญอย่างมากในการแบ่งทรัพย์สินของคนตายให้แก่ทายาทและทายาทก็ต้องมีข้อตกลง (เป็นหนังสือ) หรือชี้แจ้งกันอย่างชัดเจนว่า ทรัพย์มรดกไหนใครได้ไป

มิเช่นนั้นแล้วผู้จัดการมรดกจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในข้อหา ยักยอกทรัพย์มรดก และ เรียกทรัพย์มรดกคืน อย่างแน่นอน

แต่หากมีพินัยกรรมผู้จัดการมรดกจะต้องทำตามพินัยกรรมอย่างเคร่งครัด ไม่ได้แปลว่าผู้จัดการมรดกจะได้รับมรดกคนเดียวหรือมีอำนาจตัดสินใจว่าใครได้มรดกบ้างนะครับ อย่าเข้าใจผิดล่ะ 

เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ติดต่อทำพินัยกรรมกับทนายความมืออาชีพ

ทำพินัยกรรม

จัดตั้งผู้จัดการมรดกอย่างมืออาชีพ ลดปัญหาในครอบครัว

จัดตั้งผู้จัดการมรดก

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย

ใส่ความเห็น