ความแตกต่างระหว่างสินสมรส สินส่วนตัว

สินสมรส สินส่วนตัว

การแย่งสินสมรสกันระหว่างสามีกับภริยาเป็นเรื่องที่มีปัญหากันอย่างมาก เพราะกฎหมายมีการ “เหมารวม” ทรัพย์สินบางส่วนให้เป็น “สินสมรส” ซึ่งจะต้องแบ่งให้อีกฝ่ายแม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ช่วยทำมาหากินเลยก็ตาม วันนี้ผมจะมีคุยเรื่องนี้กันตั้งแต่ต้นจนจบเลย ไม่ว่าจะเป็นความหมาย ความแตกต่างและผลกระทบเมื่อหย่าร้างกัน

สารบัญเนื้อหา

ความแตกต่างระหว่างสินสมรสและสินส่วนตัว

ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นเจ้าของครับสินสมรสไม่ว่าจะมูลค่าเท่าไหร่หรือใครเป็นคนหามา ถ้ากฎหมายชี้ว่าเป็นสินสมรสแล้วต้องหารสอง แต่สินส่วนตัวแม้จะมูลค่าสูงก็จะเป็นของเราคนเดียวไม่ต้องไปแบ่งกับคู่สมรสของเรา

การบริหารจัดการก็แตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นสินส่วนตัวของใครของมันดังนั้นอีกฝ่ายจะมายุ่งกับเราไม่ได้ ว่าจะบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนตัวนี้ยังไง แต่ตรงกันข้ามกับสินสมรสเลยครับกฎหมายให้ความเป็นเจ้าของร่วมกันเพราะงั้นจะต้องจัดการร่วมกันในทรัพย์สินหรือเรื่องใหญ่ๆ เช่น ขายอสังหาฯ กู้ยืมเงิน เป็นต้น

วิธีแยกสินสมรสจากสินส่วนตัว

กฎหมายไทยเรื่องนี้เข้าใจง่ายครับแค่รู้ความหมายก็แยกกันได้แล้วตามนี้เลยครับ

“สินสมรส” หมายถึง ทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดให้ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินนี้มีอยู่ร่วมกันระหว่างสามีและภริยา แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้เป็นคนหาทรัพย์สินนี้มาโดยตรงก็ตาม

อย่างที่บอกครับว่าเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนด ที่นี่เรามาดูกฎหมายไทยกันว่าอะไรเป็นสินสมรสบ้าง?

• ทรัพย์สินที่ได้มา “ระหว่าง” สมรส = กฎหมายบ้านเราข้อนี้เข้าใจง่ายๆเลยครับ ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้วหลังจากวินาทีนั้น จะสามีหรือภริยาใครได้อะไรมา (แม้จะเป็นงานส่วนตัวของตัวเอง) ก็ถือให้เป็นสินสมรสหมดทุกบาททุกสตางค์ทุกก้อนดิน

• ดอกผลของสินส่วนตัว = ข้อนี้เข้าใจยากนิดเดียวแต่ไม่มากครับ เริ่มจากว่าก่อนจดทะเบียนสมรสเรามีทรัพย์สินอะไรมา “ก่อน”​ แล้วทรัพย์สินนั้นมันงอกเงยขึ้นมา เช่น มีบ้านมาอยู่ก่อนและเอาบ้านไปปล่อยทำค่าเช่า , มีวัวมาอยู่ก่อนและวัวออกลูกออกมา เป็นต้น , แบบนี้ค่าเช่าและลูกวัว เป็นสินสมรส

• ทรัพย์สินที่ได้มาโดยพินัยกรรม ให้โดยเสน่หา หรือหนังสือระบุว่า ให้เป็นสินสมรส = อันนี้ก็เข้าใจง่ายอีกแล้วครับ แต่ต้องมีข้อความบังคับคือคนให้ต้องให้โดยยกให้เป็น “สินสมรส” ระหว่างสามีภริยาคู่นี้

สินส่วนตัว จำง่ายๆเป็นสองส่วนครับ

• ส่วนแรก มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส = ไม่เกี่ยวกับอีกฝ่ายแน่นอน
• ส่วนที่สอง ได้มาหลังจดทะเบียนสมรสแต่ได้รับการยกเว้นไว้ = ของใช้ส่วนตัว , สิ่งของที่จำเป็นกับการประกอบอาชีพ และทรัพย์สินที่มีคนให้มาโดยเสน่หา หรือพินัยกรรม

ผลกระทบของสินสมรสและสินส่วนตัวในกรณีหย่าร้าง

สินส่วนตัว ไม่มีผลกระทบใดๆครับเพราะงั้นสบายใจส่วนนี้ได้ เวลาหย่ากันให้รีบแยกออกมาก่อนเลยว่าอะไรเป็นสินส่วนตัวจะได้ไม่เผลอไม่แบ่งให้อีกฝ่ายโดยไม่จำเป็น

สินสมรส อันนี้มีผลโดยตรงเลยครับเพราะว่าเมื่อหย่ากันแล้วก็จะตามมาด้วยการแย่งทรัพย์สินกันสถานะของสินสมรสคือ เป็นเจ้าของ “ร่วมกัน” หรือหารสองนั่นเอง ดังนั้นมันจะติดไปแบบนี้ครับจนกว่าจะขายแบ่งเงินกันหรือทำข้อตกลงกันได้

เคยเห็นข่าวที่ต่างประเทศเอาเลื่อนมาหั่นรถเป็นสองท่อนไหมครับ อันนี้ก็เกินเลยไปไปขายแล้วแบ่งเงินกันก็ได้ แหม่…

วิธีป้องกันการแย่งชิงสินสมรสและสินส่วนตัว

  1. การทำความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินสมรสกันตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนสมรส จะได้ไม่เข้าใจผิดหรือไปหวังอะไรที่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิไว้ครับ โดยเฉพาะชาวต่างชาติเพราะกฎหมายที่ต่างประเทศหลายประเทศ รวมเอาสินส่วนตัวที่มีมาก่อนสมรสมาเป็นสินสมรสด้วย
    ดังนั้นเริ่มจากทำความเข้าใจกฎหมายเรื่องนี้ก่อน
  2. พอเข้าใจแล้วถ้าไม่ชอบที่กฎหมายกำหนดแบบนี้ให้ทำ “สัญญาก่อนสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สิน” (คำนี้ให้ใส่ลิงค์บทความนี้ด้วยที่เพิ่งทำ) เพราะเราสามารถกำหนดเงื่อนไขได้เองให้เหมาะสมกับแต่ละคู่ครับ
  3. พยายามโอนชื่อทรัพย์สินเป็นชื่อคู่ให้ได้มากที่สุด เรียกว่าถือครองกันให้เห็นจะๆไปเลยครับ คนที่มาซื้อหรือทำธุรกรรมด้วยจะได้ไม่ลืมจ่ายเงินให้เรา หรือคนอื่นจะได้รู้ตั้งแต่แรกเห็นเลยว่ายังไงก็ต้องถามหรือทำสัญญาทั้งสองคน
  4. เมื่อตัดต้นตอของปัญหาได้แล้วการที่จะดื้อแล้วมาแย่งสินสมรสอีกก็จะน้อยลงมากเลยละครับ

การจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามกฎหมาย

สินส่วนตัวสามารถจัดการได้เต็มที่เลย แต่สินสมรสมีข้อจำกัดอยู่

สินสมรส การจัดการกฎหมายมองไว้แบบนี้ครับ
คือ ให้ใครจัดการไปก็ได้แต่เรื่องใหญ่ๆ 8 เรื่องนี้ต้องทำด้วยกันหรือยินยอมกันทั้งคู่ เรื่องว่าหลักใครทำก็ได้ยกเว้นเรื่องดังนี้

  • ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
  •  ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
  • ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
  • ให้กู้ยืมเงิน
  • ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
  • ประนีประนอมยอมความ
  • มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
  • นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

เห็นไหมครับว่าเรื่องที่กฎหมายจำกัดไว้ว่าต้องทำสองคน เพราะกลัวว่าถ้าปล่อยให้คนนึงทำแล้วจะเสียหายกับอีกฝ่ายเยอะนั่นเอง

สรุป

ก่อนเเต่งงานสิ่งที่ต้องเข้าใจก่อนคือ “สินสมรส” และ “สินส่วนตัว” เพราะตอนรักกันอะไรก็ไม่สนใจแต่ตอนจะเลิกกันนี่สิ คิดย้อนกลับมาทุกบาททุกสตางค์ ทะเลาะกันยาวเป็นสิบปีก็มีแม้จะหย่ากันไปแล้วก็ตาม…

ถ้าใครอยากปรึกษาเรื่องสินสมรส สินส่วนตัว ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา สามารถติดต่อทนายความของเราได้

บทความโดย ทนายแชมป์

สอบถามเพิ่มเติม

ติดต่อทนาย