สารบัญ
- ความสำคัญของสัญญาก่อนสมรสสำหรับการปกป้องทรัพย์สิน
- การจัดทำสัญญาก่อนสมรสอย่างถูกต้อง
- ทรัพย์สินที่ครอบคลุมในสัญญาก่อนสมรส
- สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสตามสัญญาก่อนสมรส
- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาก่อนสมรสในประเทศไทย
- สัญญาก่อนสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่นิยมในประเทศไทย
- สรุป
การแต่งงานเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หลายคนไม่ได้นึกถึงเรื่องทรัพย์สินที่จะตามมาภายหลัง เช่น ถ้าความสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อปกป้องทรัพย์สินส่วนตัวของเราและของคู่สมรส คือการจัดทำ “สัญญาก่อนสมรส” (Prenuptial Agreement) ซึ่งหลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่า สัญญาก่อนสมรส นี้สามารถช่วยปกป้องทรัพย์สินของใคร และทำงานอย่างไรบ้าง
วันนี้เรามาทำความรู้จักกับสัญญาก่อนสมรสกันครับ
ความสำคัญของสัญญาก่อนสมรสสำหรับการปกป้องทรัพย์สิน
สัญญาก่อนสมรสยิ่งในต่างประเทศสำคัญ และเป็นที่นิยมอย่างมาก ดังนั้นใครที่กำลังคบหากับสามีหรือภริยาต่างชาติต้องรู้จักไว้ ไม่เสียเปรียบ
สัญญาก่อนสมรส คือเอกสารทางกฎหมายที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงกันก่อนแต่งงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทรัพย์สินของแต่ละฝ่าย และทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรสว่าจะแยกเป็น ทรัพย์สินส่วนตัว ด้วยเงื่อนไขอะไรบางอย่าง
สัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) มีบทบาทสำคัญในการปกป้องทรัพย์สินที่คู่สมรสมีอยู่ก่อนสมรส ไม่ให้ถูกรวมเป็นสินสมรสที่ต้องแบ่งปันในกรณีที่เกิดการหย่าร้าง
หรือแม้แต่ “ยกเว้นไม่ให้มีสินสมรสเลยหลังเเต่งงานก็ได้” (อันนี้ต้องรู้ไว้นะครับ)
ตัวอย่างง่าย ๆ หากคุณมีบ้านหรือทรัพย์สินมาก่อนแต่งงาน สัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) จะระบุว่าบ้านนี้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของคุณ และจะไม่ถูกแบ่งปันหากมีการหย่าร้าง ซึ่งนี่เป็นการสร้างความชัดเจน และลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง
การจัดทำสัญญาก่อนสมรสอย่างถูกต้อง
ทำสัญญาก่อนสมรสอย่างไรจึงถูกต้องตามกฎหมาย หลายคนมาเริ่มทำสัญญาก่อนสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สิน “หลังสมรส” ซึ่งผิด
สำหรับประเทศไทย สัญญาก่อนสมรสจะต้องทำขณะสมรสเท่านั้น
การจัดทำสัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) ต้องทำตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยคู่สมรสจะต้องให้การยินยอมทั้งสองฝ่ายอย่างอิสระ ไม่มีการบังคับหรือกดดัน
อีกทั้งต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องลงทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ณ สำนักทะเบียนการสมรส การลงทะเบียนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ เพื่อให้สัญญาก่อนสมรสมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
นอกจากนี้ การจัดทำสัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) ควรมีการปรึกษาทนายความที่เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อให้สัญญาเป็นไปตามกฎหมาย และครอบคลุมทรัพย์สินที่ต้องการปกป้องอย่างถูกต้อง
ทรัพย์สินที่ครอบคลุมในสัญญาก่อนสมรส
สัญญาก่อนสมรสสามารถครอบคลุมถึงทรัพย์สินส่วนตัว และสินสมรสที่คู่สมรสทั้งสองต้องการจัดการตามความต้องการ
ตัวอย่างของทรัพย์สินที่ครอบคลุม ได้แก่
1. ทรัพย์สินส่วนตัว
เช่น บ้าน, รถยนต์, บัญชีเงินฝาก, หุ้น
2. สินสมรส
หรือทรัพย์สินที่ทั้งสองฝ่ายได้มาในระหว่างสมรส เช่น รายได้, อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อร่วมกัน
สัญญาก่อนสมรสสามารถกำหนดได้ว่าทรัพย์สินใดจะเป็นของใคร หากเกิดกรณีหย่าร้างจะจัดการอย่างไร
ซึ่งการมีข้อตกลงที่ชัดเจนจะช่วยลดความขัดแย้งในอนาคตได้มาก
เพราะอย่างกฎหมายไทย
หลังเเต่งงานแล้วทรัพย์สินที่งอกเงยมาทั้งหมด ให้ถือเป็นสินสมรสหมด
เช่น สามีเงินเดือน 100,000 บาท ภริยาเงินเดือน 15,000 บาท ตามกฎหมายสินสมรสคือ 115,000 บาท ซึ่งแบ่งกันคนละครึ่งครับ
สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสตามสัญญาก่อนสมรส
สัญญาก่อนสมรสจะระบุถึงสิทธิ และหน้าที่ของคู่สมรสในเรื่องทรัพย์สิน เช่น ฝ่ายใดมีสิทธิ์ในทรัพย์สินบางประเภท หรือหากฝ่ายใดต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างสมรส
นอกจากนี้ ยังอาจรวมถึงการกำหนดบทบาทของแต่ละฝ่ายในการจัดการทรัพย์สิน และการตัดสินใจทางการเงินร่วมกัน
ในกรณีที่ไม่มีสัญญาก่อนสมรส กฎหมายในประเทศไทยจะถือว่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่ได้มาระหว่างสมรส เป็นสินสมรส
ซึ่งต้องแบ่งให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายในกรณีที่มีการหย่าร้าง
การมีสัญญาก่อนสมรสจะช่วยป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินส่วนตัวถูกผูกพันกับสินสมรส
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาก่อนสมรสในประเทศไทย
ในประเทศไทยสัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) ถูกควบคุมโดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1465 ซึ่งระบุว่า คู่สมรสสามารถทำข้อตกลงเรื่องการจัดการทรัพย์สินก่อนการสมรสได้ และข้อตกลงนี้จะมีผลก็ต่อเมื่อมีการแนบไว้กับทะเบียนสมรส
ว่ากันง่ายๆ คือ เอาไปจดทะเบียนสมรสด้วยนั่นแหละครับ
การทำสัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อน แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างระมัดระวังและรอบคอบ
ด้วยเหตุผลที่ว่าการทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินนี้จะมีผลต่ออนาคตของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย
สัญญาก่อนสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่นิยมในประเทศไทย
ใช่ครับ ถ้าเทียบกับต่างประเทศแล้ว เราไม่นิยมกันจริงๆ เหตุผลเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและค่านิยมที่ยังเชียร์ ให้ฝ่ายหญิงฝากชีวิต และอนาคตไว้กับฝ่ายชาย พร้อมเป็นแม่บ้านดูแลลูกนั่นแหละครับ
ทำให้ฝ่ายหญิงจะต้องสละงานการและอนาคตทั้งหมดลงไป ดังนั้น ถ้ามีการแยกทรัพย์สินแบบนี้ ฝ่ายที่ยอมหยุดพัฒนาความก้าวหน้าทางการเงิน การงาน ก็แย่เลย
อย่างก็ตาม แม้จะไม่นิยมแต่ด้วยประสบการณ์ของผมเอง 3 ปีหลังมานี้ มีการตกลงทำสัญญาก่อนสมรสเกี่ยวกับทรัพย์สินเยอะขึ้นมาก ทั้งคู่ที่เป็นไทย-ไทย หรือ ไทย-ต่างชาติ
สรุป
สัญญาก่อนสมรส เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการปกป้องทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรส ทั้งทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนการสมรส และที่ได้มาหลังการสมรส
การจัดทำสัญญานี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความขัดแย้งในอนาคตอีกด้วย
อย่าลืมปรึกษาทนายความที่เชี่ยวชาญก่อนการทำสัญญาก่อนสมรส เพื่อให้แน่ใจว่าสัญญานั้นถูกต้องตามกฎหมาย และครอบคลุมทุกสิ่งที่คุณต้องการ
สอบถามเพิ่มเติม
ติดต่อทนาย
ส่งเมล์
info@champ-lawfirm.com
โทร
065 6060622
แชทไลน์
ID: @champlawfirm
สำนักงาน
47/86 Pattaya Klang Rd.